งานนิทรรศการ "Right to Clean Air - The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา" ครั้งนี้จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมี เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะรังสรรค์ขึ้นมาจากฝุ่นที่รวบรวมมาจากหลากหลายจังหวัดที่มีมลพิษทางอากาศปนเปื้อนสูงในประเทศไทย
งานนิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเรียกร้องให้มีการยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ด้วยการใช้ค่าเฉลี่ยฝุ่นมลพิษ PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งฝุ่นมลพิษ PM 2.5 นี้นับเป็นภัยร้ายที่ทำลายสุขภาพของผู้คนอย่างรุนแรง
เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินที่ร่วมมือกับกรีนพีซเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะครั้งนี้กล่าวว่า "ในตอนนี้คนไทยยังไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องของระดับมลพิษในอากาศที่พวกเขาต้องสูดหายใจเข้าไป ผมอยากให้ผู้คนได้มองเห็นภัยที่มองไม่เห็นด้วยตานี้ผ่านทางผลงานศิลปะของผม สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้คนตระหนักได้ว่าอากาศที่ตนหายใจเข้าไปนั้นมีสิ่งที่อันตรายอยู่ ในบางพื้นที่ ผู้คนไม่อาจจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้กับสุขภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งหากพวกเราไม่สามารถเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกับเราโดยตรงได้ แล้วพวกเราจะสามารถทำอะไรในประเทศนี้ได้อีก หากอากาศที่เราหายใจเข้าไปมันสกปรก แล้วพวกเราจะใช้ชีวิตกันต่อไปได้อย่างไร ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจในอากาศดีๆ"
ผลงานศิลปะจัดวาง Memory และ Monolith Souvenir นั้นรังสรรค์มาจากฝุ่นที่เก็บมาจากหลายจังหวัดทั่วทั้งประเทศไทย โดยนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของมลพิษในอากาศ ผลงาน Memory สร้างขึ้นด้วยวิธีเปเปอร์มาเช่ (Paper Mache) ปั้นเป็นรูปเด็ก แม่ และชายชรา ที่มีขนาดเสมือนจริง ซึ่งต่างเป็นตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศจากแหล่งต่างๆ ส่วนผลงานชุด Monolith Souvenir สะท้อนภาพผลกระทบของมลพิษในอากาศต่อสิ่งแวดล้อมและสะท้อนความอยุติธรรมที่ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศต้องเผชิญ ผ่านทางเรซิน 20 ชิ้นที่รวบรวมเศษใบไม้และต้นไม้ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่น และเก็บจากสถานที่จริง สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากผู้สร้างมลพิษ
จากการศึกษาของธนาคารโลก [1] ชี้ว่ามลพิษอากาศในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวันอันควรถึงราว 50,000 รายต่อปี และประชากรไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) นี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ 19 แห่งใน 14 พื้นที่ทั่วประเทศไทยยังคงเกินค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO [2]
พื้นที่ที่มีระดับค่าเฉลี่ยรวมของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ตลอดทั้งปีสูงที่สุดคือที่ สระบุรี (36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ ธนบุรี ในกรุงเทพมหานคร (31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยทั้งสองพื้นที่มีระดับค่ามลพิษสูงกว่าค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO ถึงสามเท่าตัว ส่วนพื้นที่อื่นๆที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงได้แก่ สมุทรสาคร ราชบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏค่ามลพิษในระดับสูงถึงระหว่าง 25-30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยทั้งหมด 14 พื้นที่ที่มีการตรวจวัดค่ามลพิษนั้นต่างมีระดับมลพิษสูงกว่าค่าจำกัดสูงสุดของ WHO ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น 9 จาก 14 พื้นที่ยังมีค่ามลพิษเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศรายปีแห่งชาติอีกด้วย
"ผลกระทบจากฝุ่นละอองมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก PM 2.5 ที่มีต่อสุขภาพของผู้คนนั้นถูกเพิกเฉยและละเลยโดยคนจำนวนมากรวมทั้งรัฐบาล" จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว "กรีนพีซมุ่งผลักดันให้กรมควบคุมมลพิษยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศในประเทศไทยให้เข้มงวดยิ่งขึ้นและเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษติดตามตรวจสอบฝุ่นมลพิษ PM2.5 และนำมาคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนทุกคน"
"คนเราไม่ควรจะต้องมาเสี่ยงกับภัยทางสุขภาพและเฝ้ารอปีแล้วปีเล่าให้รัฐบาลเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพอากาศเพื่อช่วยชีวิตประชาชนคนไทยกว่าหลายหมื่นชีวิต" จริยากล่าวเสริม
งานนิทรรศการ "Right to Clean Air - The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา" จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ถึง 28 มกราคม 2561 นี้ ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกเหนือจากการจัดแสดงผลงานในนิทรรศการหลักแล้ว ยังมีการพูดคุยกันของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับมลพิษในอากาศและทางแก้ไขปัญหา และกิจกรรมอื่นๆเช่นนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับมลพิษในอากาศ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับตารางกิจกรรมแต่ละวันภายในงาน สามารถเข้าชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.greenpeace.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit