แรงกดดันในด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงมีต่อเนื่องสำหรับช่วงครึ่งปีแรกปี 2560 โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.5% ณ เดือนธันวาคม 2559 เป็น 3.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ในขณะเดียวกันอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลงเช่นกัน แนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ดังกล่าวนี้ยังคงสอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมเป็นลบที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของกลุ่มลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังคงอยู่ในระดับสูงและยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ซึ่งสะท้อนถึงการที่ธุรกิจขนาดเล็กมีความสามารถที่ด้อยกว่าในการรับมือกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีสัญญาณของการปรับตัวด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์กลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.9% ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2559 เป็น 3.2% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2560 หนี้สินภาคครัวเรือนของไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่ประมาณ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (หรือ GDP) และเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อภาคธนาคาร
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้น่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงสิ้นปี ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตรา 3.4% ในปี 2560 แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นในภูมิภาค แต่ยังคงเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกันปี 2559 นอกจากนี้การเติบโตของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกปี 2560 ได้ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยมีอัตราเติบโตเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะบังคับใช้เกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่เข้มงวดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาน่าจะสะท้อนได้ว่าธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้มีความระมัดระวังมากขึ้นมาแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นน่าจะช่วยลดทอนความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ได้บ้างในไตรมาสต่อๆ ไป
ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญน่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงและเป็นปัจจัยที่จะกดดันอัตรากำไรของธนาคาร อย่างไรก็ตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกปี 2560 และการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นปัจจัยที่ช่วยให้อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมของภาคธนาคารปรับตัวลงไม่มากนักจาก 1.34% ในช่วงครึ่งแรกปี 2559 เป็น 1.30%
ผลประกอบการและอัตรากำไรของภาคธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและเพียงพอที่จะสนับสนุนเงินกองทุนของธนาคาร อัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำค่อนข้างมาก ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์มีฐานะเงินกองทุนที่สามารถผ่านเกณฑ์อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำที่ 8.5% ที่จะบังคับใช้ในปี 2562 (ซึ่งรวมเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤติ หรือ conservation buffer) แม้ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบบ้างจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 ที่คาดว่าจะเริ่มในปี 2562 เช่นกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit