นายจารุเกียรติ ปัญญาดี พลังงานจังหวัดสุโขทัย กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พบว่า มีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ เช่น โคนมและสุกรขุนเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงระดับฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งอาศัยของชุมชน ทำให้ชุมชนประสบปัญหาจากกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์และแมลงต่างๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดสุโขทัย กระทรวงพลังงาน จึงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจแหล่งฟาร์มโคนมและสุกรที่มีศักยภาพสามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นพลังงานทดแทนได้ โดยได้คัดเลือกฟาร์มที่มีความสนใจและมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่องในการบริหารจัดการของเสียที่เกิดขึ้นในฟาร์มเพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้มด้วยเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ ช่วยลดรายจ่ายค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) และสนับสนุนให้ชุมชนตระหนักถึงการพึ่งพาแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพในชุมชนแทนการการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งภายนอก อีกทั้งยังช่วยลดกลิ่นรบกวนที่เกิดจากมูลสัตว์ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในชุมชนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ อัจฉราฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรของนางอัจฉรา สุขแท้ ตั้งในพื้นที่หมู่ที่ 9 ชุมชนบ้านเสาหิน ตำบล ป่าแฝก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย นับเป็นหนึ่งในฟาร์มนำร่องที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตและใช้พลังงานทดแทน ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน งบประประมาณโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ประสบความสำเร็จและได้ถูกยกระดับให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการบริหารจัดการพลังงานอย่างครบวงจร เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านใกล้เคียงหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและนำไปขยายผลในชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป โดยโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 381,037 บาท ในการก่อสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพประเภทโดมคงที่ (Fixed Dome) ขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร พร้อมเดินระบบท่อส่งก๊าซชีวภาพไปยังชุมชนจำนวน 33 ครัวเรือน โดยชุมชนให้ความร่วมมือในการขุดดินเพื่อวางแนวท่อหลักไปยังครัวเรือนแต่ละหลังคาเรือน และร่วมกันกำกับดูแลความปลอดภัยของแนวท่อส่งก๊าซชีวภาพ
"ปัจจุบัน จากการเข้าร่วมชุมชนดังกล่าว ชุมชนบ้านเสาหินสามารถลดการใช้ก๊าซหุงต้มได้ 100% จากเดิมที่มีปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 2,550 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นผลประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 49,300 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 2.44 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ยังสามารถลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมจากกลิ่นมูลสัตว์และของเสียจากฟาร์ม ทำให้ชุมชน ฟาร์ม และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันได้ และยกระดับให้เป็นหมู่บ้านปลอดแอลพีจี สามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก แต่พึ่งพาพลังงานทดแทนที่ชุมชนมีศักยภาพ ตามวิถีชีวิตชุมชนพอเพียง" พลังงานจังหวัดสุโขทัย กล่าว