ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ หัวหน้าโครงการประสานงานวิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ผู้จัดเวทีเสวนาดังกล่าวได้ชี้ว่า องค์ความรู้จากงานวิจัยการพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) ได้ชี้ให้เห็นองค์ความรู้สำคัญของการพัฒนาการศึกษาที่จุดเปลี่ยนอยู่ที่ "พื้นที่" สกว.และสสค.ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาระดับจังหวัด โดยสร้างให้เกิดกลไกการพัฒนาการศึกษา การมีข้อมูลเพื่อตั้งโจทย์และตัดสินใจ รวมถึงมีแผนที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยพบว่ามี 5 กุญแจสำคัญของความสำเร็จนั่นคือ 1) "เป้า" เห็นเป้าหมายร่วมและมุ่งไปด้วยกัน 2) "เปิด"พื้นที่ความร่วมมือ ดึงภาคี มีข้อมูลในการตัดสินใจ 3)"ปรับ" ความสัมพันธ์การทำงานทุกระดับ สร้างภาวะรับผิดชอบการศึกษาใหม่ 4) "ปลด"ล็อคการทำงาน สร้างความยืดหยุ่นและให้มีอิสระการจัดการ5) "เปลี่ยน"แปลงถึงพื้นที่ สร้างการเรียนรู้ดีๆ ถึงเด็ก ด้วยนวัตกรรมการจัดการต่างๆ ซึ่ง ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ย้ำผลที่เกิดขึ้นกับ 17 จังหวัดที่สกว.และสสค.ร่วมขับเคลื่อนได้เห็นการทำงานที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ขององค์กรหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับพื้นที่ ไปจนถึงระดับสถานศึกษาและห้องเรียน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดและพื้นที่ให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาและความต้องการของพื้นที่ อาทิ การพัฒนาด้านโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กหลุดระบบ การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กเข้าสู่โลกของงาน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นตัวแบบดีๆ ที่สามารถขยายผลได้
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กล่าวว่าการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ไม่ได้เกิดโดยอำนาจสั่งการ แต่เกิดจากความสัมพันธ์และความร่วมมือร่วมพลังของทุกฝ่าย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเกิดที่จากกระบวนการทำงาน ซึ่งเป้าหมายและโจทย์การเป็นไปตามบริบทของพื้นที่ และทุกพื้นที่ต่างสร้างนวัตกรรมในการบริหารจัดการ นวัตกรรมในการสร้างการเรียนรู้และนวัตกรรมสังคมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ประเทศไทยจะก้าวต่อไปได้ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆที่สร้างความรู้สร้างพลังการเปลี่ยนแปลง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเยาวชนและการพัฒนาการศึกษา
อดีตเจ้าหน้าที่บริหารองค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จุดแข็งของงาน คือ แต่ละจังหวัดมีความหลากหลาย เราจะเห็นวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลายต่างแบบแต่มีเป้าหมายเดียวกัน ที่ต้องได้คำตอบคำตอบให้ได้ ว่าเด็กดีขึ้นไหม คนทำงานมีความสุขไหมดังนั้นเราต้องร่วมกันปาลูกดอกไปสู่เป้าหมายเดียวกัน แม้จะต่างวิธีต่างหน้าที่แต่มีเป้าหมายอนาคตร่วมกัน นี่คือการทำงานในรูปแบบประชารัฐที่เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มาร่วมเป็นเจ้าของและพัฒนาขับเคลื่อนการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตดูเหมือนการศึกษาต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในกระแสที่กำลังตั้งโจทย์กับแนวโน้มความเสี่ยงและแนวโน้มวิกฤตภัยที่การศึกษาต้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาที่ยังคงอยู่ ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา เด็กย้ายถิ่นและคนข้ามชาติ ปัญหาเสี่ยงทางสังคม แนวโน้มคุณภาพของกำลังคนรุ่นใหม่ที่อ่อนด้อยฝีมือหรือทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต ปัญหาการลงทุนและทรัพยากรทางการศึกษาที่มีแนวโน้มจำกัดและมีความเสี่ยงในเรื่องการเงิน ปัญหาความเสี่ยงในด้านสังคมเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการศึกษา ฯลฯ ในประเทศไทย เราเผชิญสิ่งเหล่านี้ร่วมไม่ต่างจากกระแสโลกที่พุ่งเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งจะยกระดับคุณภาพการศึกษาพร้อมๆกับเป้าหมายการพัฒนาด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 การมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มีนัยต่อความท้าทายของการพัฒนาการศึกษาไทย
ทั้งนี้ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติได้ศึกษากระแสความเคลื่อนไหวในประชาคมโลก ซึ่งชี้ว่า นานาประเทศต่างได้ส่งสัญญาณเตือนกระบวนทัศน์และทิศทางทางการศึกษา และได้เสนอแผนหรือแนวทางของการรับมือความเสี่ยงและภัยพิบัติเหล่านี้ โดยเสนอยุทธศาสตร์การจัดการที่ต้องเสริมพลังกลไกที่มีอยู่เดิมในพื้นที่อาทิ กศจ. ประชาคม หรือสมัชชาในพื้นที่โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการ และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พลังชุมชน พลังคน"(Community power) ที่มีความสามารถในการรับมือของระบบสังคม (Capacity of Societal system) กับความเสี่ยงภัยเหล่านี้ที่อาศัยความร่วมมือและความเข้มแข็ง(Strength) ของชุมชนภายใต้การมีการจัดการที่มีความยืดหยุ่นและการรวมพลัง(community Resilience&Collaboration) จะเป็นทางออกของการสร้างการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาที่จะเท่าทันกับแนวโน้มและความท้าทายต่างๆที่จะเผชิญในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันบทเรียนจากงานวิจัยและพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่ (ABE) ได้ทำให้เห็นพลังของประชารัฐที่มาร่วมพลังการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา แต่ในอนาคตสังคมยังคงต้องคิดต่อในโจทย์ที่ท้าทายเหล่านี้กันต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit