วันนี้(18ธค.) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ ท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ได้มอบนโยบายและ ทิศทางการขับเคลื่อนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้ได้ประโยชน์สูงสุดและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ปัจจุบัน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว ทั้ง 5 แผน ซึ่งประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan) และแผนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ในปี 2559 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องการประหยัดพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เนื่องจากการประหยัดพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานตามแผนบูรณาการพลังงาน และเห็น ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนหนึ่ง ที่มีการใช้พลังงานค่อนข้างสูงมาก
"ดังนั้น ในปี 59 จะเน้นให้ความสำคัญ กับการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยอยากให้ภาคอุตสาหกรรม ได้มีปรับเปลี่ยน และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์รุ่นใหม่ ก็จะช่วยประหยัดพลังงาน จึงมีแนวทางการส่งเสริมด้วยมาตรการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ Soft loan กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อเป้าหมายสำคัญที่จะลดระดับการใช้พลังงาน ให้ได้ ร้อยละ 30 ภายในปี 79 ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน"นายอารีพงศ์กล่าวทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ จึงได้จัดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน กับผู้บริหารสถาบันการเงิน 8 แห่ง ได้แก่
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
5. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
6. ธนาคารไทยพาณิช จำกัด (มหาชน)
7. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
8. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ ภายใต้โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน โดยได้เตรียมเข้าหารือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พลังงานจังหวัด และกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการวางระบบสนับสนุน รวมทั้งระบบการจับคู่ทางธุรกิจ ซึ่งจากวงเงินกู้จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่จะปล่อยกู้ผ่านธนาคาร จำนวน 4,489 ล้านบาท คิดเป็นผลประหยัดพลังงานเป็นเงินกว่า 4,404 ล้านบาท หรือเทียบเท่าการนำเข้าน้ำมันดิบได้ถึง 213 ktoe และมั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ ธุรกิจห้องเย็น โรงน้ำแข็งที่เป็นเป้าหมายหลักได้เริ่มปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ และปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานสูง เช่น เครื่องทำความเย็น ,หม้อไอน้ำ ,เครื่องอัดอากาศ เป็นต้น และจะมีธุรกิจห้องเย็น โรงน้ำแข็งที่จะเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ.ได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมห้องเย็น โรงน้ำแข็งทั่วประเทศพบว่า มีโรงน้ำแข็งอยู่ 1,796แห่ง และห้องเย็น 670 แห่ง โดย พพ. จะได้เร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงินดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ ฯ ซึ่งจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม เกิดกระแสการอนุรักษ์พลังงานในภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง และในระยะยาวนั้น จะได้ประโยชน์ในทุกมิติคือ มีความมั่นคงทางพลังงาน สร้างสมรรถนะในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมไปถึงการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป