หนุนประชาคมวิจัย พัฒนาโจทย์ “ท้าทายไทย”

11 May 2015
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.ปีเตอร์ ซิงเกอร์ ผอ.โครงการ Grand Challenges ประเทศแคนาดา รวมถึง นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และผู้แทนจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร
หนุนประชาคมวิจัย พัฒนาโจทย์ “ท้าทายไทย”

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า โครงการท้าทายไทย เกิดขึ้นจากแนวคิดในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย โดยกำหนดโครงการที่มีความท้าทาย มีการบริหารจัดการชุดโครงการที่ดี และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก การท้าทายให้วงการวิจัยไทยแก้ไขปัญหาหรือตั้งโจทย์ที่สำคัญ จะส่งผลให้นักวิจัยเกิดความต้องการจะแก้ไขปัญหาที่ยากต่อการแก้ปัญหาเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยลำพัง

“สังคมไทยมีภัยคุกคามที่เป็นวิกฤตมากมายจนเกิดเป็นคำถาม เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเราพร้อมรับมือหรือไม่ ผู้สูงอายุจะดูแลตนเองต้องทำอะไร หรือสมุนไพรไทย ซึ่งมีสรรพคุณมากมายจะผลักดันสู่การเป็นยาใหม่ได้อย่างไร รวมทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อพรมแดนเปิดกว้างเราพร้อมหรือยัง เป็นต้น ดังนั้น โครงการท้าทายไทย คือ การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ที่มาปิดกั้นการพัฒนาของประเทศ โดยลักษณะของโครงการฯ จะมุ่งใน 3 ด้านหลักๆ คือ...

1.ตั้งโจทย์ที่เป็นปัญหาสำคัญ มีอุปสรรค ฉะนั้นเราจะต้องมองเป้าของปัญหาให้ชัดเพื่อวางแนวทางแก้ไข เช่น การร่วมกำหนดหัวข้อเพื่อสร้างงานวิจัยที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา 2.ผนึกเครือข่ายประชาคมวิจัย ในการทำงานให้ได้ เป็นการท้าทายให้เกิดงานวิจัยแบบบูรณาการสหสาขาวิชา ซึ่งจะมาเป็นกลไกการขับเคลื่อนสำคัญ 3.ผลงานไม่ได้ออกมาเพียงรูปแบบของงานวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ต้องมีแรงผลักที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เป็นต้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ศ.ดร.ยงยุทธ บอกว่า เรามีต้นแบบอย่าง อเมริกา แคนนาดา แอฟริกาใต้ ที่บุกเบิกรูปแบบโครงการลักษณะนี้ไว้แล้ว การที่ประเทศไทยเดินหน้าโครงการดังกล่าว ถือเป็นผู้นำร่องในภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่าย คอบช. ได้จัดการประชุมระดมสมอง “โครงการท้าทายไทย” โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงและมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 120 คน ร่วมระดมสมอง “แนวคิดโจทย์และเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในโครงการฯ มีการเสนอโจทย์วิจัยในเบื้องต้น และได้วิเคราะห์ กลั่นกรองระดับหนึ่งแล้วสามารถจำแนกเป็นด้านต่างๆ

เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เสนอในด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น คนไทยสุขภาพดีจากโภชนาการและชีวิตที่ดี การป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากพยาธิใบไม้ตับ การตรวจกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งที่สำคัญตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก การพัฒนาการแพทย์เชิงระบบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีด้านอาหารและการเกษตร เช่น การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารไทยในเวทีโลก อาหารเพื่อสุขภาพ การปรับตัวของการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอาหารต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานชีวภาพ การแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนืออย่างยั่งยืน การสร้างมูลค่าจากความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านคุณภาพชีวิต เช่น การพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรก การรองรับสังคมผู้สูงอายุ และด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การสร้างรายได้จากนวัตกรรม การเสริมสร้างธรรมาภิบาล และแก้ปัญหาคอรัปชั่นในการบริหารราชการตามระบบคุณธรรม การพัฒนาบทบาทเศรษฐกิจไทยในประชาคมอาเซียน การพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหัวข้อต่างๆ เป็นเพียงโครงร่างที่รอการพิจารณาอีกครั้ง สำหรับโครงการท้าทายไทย มีกำหนดที่จะเริ่มดีเดย์ปีงบประมาณ 2559 ในวงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท

หนุนประชาคมวิจัย พัฒนาโจทย์ “ท้าทายไทย” หนุนประชาคมวิจัย พัฒนาโจทย์ “ท้าทายไทย”