การประชุมเชิงปฏิบัติการแสวงหาแนวทางเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดนครราชสีมา

07 May 2015
คณะนักวิจัยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดนครราชสีมา --- มุ่งแสวงหาแนวทางเพื่อกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี และสร้างอาสาสมัครแกนนำถ่ายทอดความรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีสู่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่

เมื่อวันอังคารที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะนักวิจัยโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ดร.อุดม มุ่งเกษม ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ นางสาวพรรณราย ขันธกิจ นายนุกูล สัญฐิติเสรี นักวิจัย พร้อมคณะ โดยมี นายธรรศ ธรรมฤทธิ์ จากสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงาน กสทช. เข้าร่วมสังเกตการณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา ๑๑ จังหวัดนครราชสีมา โดยในภาคเช้า เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. คณะนักวิจัย ได้เข้าสัมภาษณ์และประชุมหารือร่วมกับ นางวัชรีย์ ภูมิคอนสาร รองผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา ๑๑ จังหวัดนครราชสีมา นางสาวกนกทิพย์ ปินะพังหัวหน้ากลุ่มบริหารงานวิชาการ ครู คศ.๑ คุณเบญจรัตน์ กอไม้กลาง ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดนครราชสีมา นายณัฐพงศ์ แถมวัฒนะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พลเมืองกองปราบ ตัวแทนผู้ปกครองผู้พิการทางหูทางการได้ยิน ร่วมกันให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการวิจัย

ต่อมาในภาคบ่าย เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส โดยมีการแบ่งกลุ่มย่อยระดมสมอง ๕ กลุ่ม คือ กลุ่มนางฟ้า กลุ่มมะลิ กลุ่มวัยใสใส่ใจเทคโนโลยี กลุ่มปาริชาติ กลุ่มร่างกาย ICT ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ พร้อมกับร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการสร้างอาสาสมัครแกนนำในการสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้ และแนวทางการจัดบริการโทรคมนาคม เพื่อเสนอให้ กสทช.พิจารณาจัดบริการโทรคมนาคมและจัดสรรเงินกองทุน กทปส. เพื่อสนับสนุนการจัดบริการโทรคมนาคมที่เหมาะสมต่อไป

จากนั้น เป็นการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย พร้อมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ พร้อมเสนอความเห็นเกี่ยวกับ (๑) ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการเข้ารับบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน (๒) การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ อินเทอร์เน็ต การสื่อสาร และโทรคมนาคม ในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่" เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งทักษะในการสื่อสาร

ผลการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้แทนองค์กรคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการและสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครแกนนำถ่ายทอดความรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีสู่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่ จำนวนกว่า ๓๒ คน และมีข้อเสนอแนะแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ที่สำคัญ เช่น ขอให้เสียงของผู้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ยุทธศาสตร์ และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเห็นว่าการสร้างอาสาสมัครแกนนำสำคัญมากๆ ต่อความสำเร็จของโครงการวิจัยในครั้งนี้

สำหรับผลการประชุมเชิงปฏิบัติการที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ระบุว่า ปัญหาที่สำคัญในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ได้แก่ (๑) ค่าบริการอินเทอร์เน็ตมีราคาแพง ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ (๒) ขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ (๓) ผู้อยู่ห่างไกล โครงข่ายการสื่อสารยังเข้าไม่ถึง เช่น สัญญานโทรศัพท์, Wi-Fi เป็นต้น (๔) คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ยังใช้สื่อใหม่ไม่ได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาที่สำคัญ อาทิ (๑) การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญๆ ได้แก่ วิธีการเข้าถึง การรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ต และการนำข้อมูลข่าวสารเหล่ามาใช้ประโยชน์ (๒) ควรมีตู้โทรศัพท์สำหรับคนพิการโดยเฉพาะ (๓) ขอให้ราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตมีราคาถูก สำหรับ คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส (๔) สื่อโทรทัศน์ควรมีระบบที่สามารถเลือกภาษาได้ เช่น ภาษาไทย อังกฤษ มีกรอบแสดงภาษามือ ปุ่มกดรีโมทควรมีอักษรเบรลล์กำกับด้วย ตลอดจนพัฒนา "ทีวีพิเศษ” เพื่อคนพิการ (๕) มีศูนย์ประสานงานสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ (๖) การออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดช่วงเวลา รายการที่มีสาระสร้างสรรค์ สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส (๗) จัดให้มีบริการการสื่อสาร บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับคนพิการทั้ง ๕ กลุ่มให้สามารถเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ เช่น การสื่อสารทางโทรศัพท์ หรือจุดบริการสื่อสารผ่านตู้ TTRS ด้วยวีดีโอคอล ล่ามภาษามือ สำหรับคนพิการทางการได้ยิน เป็นต้น (๘) วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เอื้ออำนวยที่เหมาะสมสำหรับคนพิการกลุ่มต่างๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยคนพิการทางร่างกาย ทางสายตา ทางการได้ยิน เป็นต้น (๙) ส่งเสริมการรวมกลุ่ม/จัดตั้งกลุ่มผู้สนใจ มีการอบรมให้ความรู้วิธีการใช้งานสื่อใหม่ ให้รู้เท่าทัน และการใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ (๑๐) ส่งเสริมงานจิตอาสา ในการรวมกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัคร เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการใช้สื่อใหม่ของกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส

ต่อมาในวันพุธที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ (เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.) คณะนักวิจัย นำโดย ดร.อุดม มุ่งเกษม ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ นายนุกูล สัญฐิติเสรี นักวิจัย พร้อมคณะ ได้เข้าศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการ ร่วมกับ นายถวิล ตรีวรปรัชญ์ ประธานคณะทำงานมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ นางพัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อพัฒนาเด็กพิการ สำนักงานโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

จากนั้น คณะนักวิจัยได้ประชุมหารือและจัดเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความสุขและคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายถวิล ตรีวรปรัชญ์ ประธานคณะทำงานมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ นางพัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ สำนักงานโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา นายอนันต์ ไชยสีดา ประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาเมืองพะไล นายสำราญ ฤาไชน ประธานกลุ่มดูแลผู้พิการเมืองพะไล และผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ ฯลฯ จำนวน ๒๖ คน โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้สมัครเข้าเป็นอาสาสมัครสื่อสารความรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีสู่ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน (จิตอาสา) จำนวน ๒๐ คน ซึ่งจะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนต่อไป

ทั้งนี้ แต่ละท่านตั้งปณิธานว่าจะทำงานอาสาทำความดี ด้วยใจ พร้อมจะเดินก้าวไปด้วยกันกับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เช่น การช่วยดูแลสุขภาพคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงการบริการต่างๆ การให้ความช่วยเหลือคนพิการให้เข้าถึงสื่อใหม่และอินเทอร์เน็ต ฯลฯ และมีข้อเสนอแนะให้วิทยุชุมชน นำเสนอหรือให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ "สื่อใหม่” แก่ประชาชนทั่วไปด้วย เพื่อจะได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ได้ ควรมีการสนับสนุนและฝึกอาชีพให้กับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ให้มีรายได้ หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องควรจัดฝึกอบรมให้ประชาชนสามารถใช้อินเทอร์เน็ต ทีวีดิจิตอล สมาร์ทโฟน ฯลฯ เพื่อเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยากให้มีวิทยุชุมชนสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะ และอยากให้มีการทำเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์ได้จริงสำหรับคนพิการ

ในวันพุธที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ (เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๔.๓๐ น.) คณะนักวิจัย ได้เข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ผู้ปกครองเด็กพิการ ร่วมกับ นายถวิล ตรีวรปรัชญ์ ประธานคณะทำงานมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ นางพัชราภรณ์ มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ สำนักงานโรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดูการเรียน การสอน การพัฒนาการของ นางสาวสายฝน สายกุด คนพิการทางได้ร่างกาย ซึ่งเป็นตัวอย่างการพัฒนาคนพิการในมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ ที่สามารถถือเป็นแบบอย่างได้อีกหนึ่งท่าน

หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทางโครงการวิจัยฯ จะได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในภูมิภาคอื่นต่อไป สำหรับท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก "สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี หรือแนวทางการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สามารถแสดงร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ www.convergencebtfpfund.net