เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ของจีน กล่าวระหว่างพิธีบดทำลายงาช้างของกลางผิดกฎหมายจำนวน662กิโลกรัมว่า “เจ้าหน้าที่รัฐจะคุมเข้มการแปรรูปและค้างาช้างจนกว่ากระบวนการเพื่อการพาณิชย์ การค้าขายงาช้างและสินค้างาช้างจะยุติลง”
นายโหลว เจอะ ผิง (Lo Sze Ping) ประธานบริหาร WWF-ประเทศจีนกล่าวว่า “นี่นับเป็นสัญญาณที่ดี WWF ขอชื่นชมความตั้งใจจริงของรัฐบาลจีนในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า รวมถึงงาช้าง การตัดสินใจของรัฐบาลจีนในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อการอนุรักษ์ช้างป่าและการค้างาช้าง”
งาช้างกิ่งและงาช้างแกะสลักที่นำมาบดทำลายในวันนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายที่ถูกจับยึดภายหลังการทำลายงาช้าง 6.15ตันเมื่อเดือนมกราคม 2557 ณ มณฑลกว้างตุ้ง ประเทศจีน นอกจากนี้ก็ได้มีการทำลายงาช้างของกลางโดยประเทศและเขตการปกครองอื่นๆ ด้วย เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศส เคนยา กาบอง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา
นายโจว เฟย (Zhou Fei) หัวหน้าสำนักงาน TRAFFIC ประเทศจีน กล่าวว่า “การตัดสินที่จะเตรียมปิดตลาดค้างาช้างและการทำลายงาช้างของกลางในวันนี้เป็นการแสดงถึงพันธะสัญญาของรัฐบาลจีนในการให้การสนับสนุนการดำเนินการของนานาประเทศเพื่อต่อต้านการล่าช้างและการค้างาช้างผิดกฎหมาย”
“อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่การทำลายงาช้างแต่ควรต้องมีการกระทำอื่นๆ อันจะทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศต่างๆยังคงปฏิบัติตามพันธะสัญญาภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ในการขจัดการค้างาช้างผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไป”
แหล่งข่าวรัฐบาลยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบงาช้างของกลางโดยหน่วยงานอิสระก่อนนำมาบดทำลาย โดยกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า (TRAFFIC) มองว่าการตรวจสอบนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องปฏิบัติก่อนจะมีการทำลายงาช้างเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการมีความโปร่งใสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการเฝ้าสังเกตและติดตามผลกระทบจากการทำลายงาช้างในครั้งนี้ที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดและราคาสินค้าที่ทำจากงาช้าง เพื่อพิจารณาว่ามาตรการเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายมากเพียงใด
กุญแจสำคัญในการควบคุมอาชญากรรมสัตว์ป่าคือการที่หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ในประเทศจีนต้องพยายามมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและลดอุปสงค์ของสินค้างาช้างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ช้างถูกล่า ทั้งนี้จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดในการตัดตอนการนำงาช้างผิดกฎหมายเข้าสู่ตลาดควบคู่กันไปด้วย
นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแล้ว รัฐบาลจีนยังมีมาตรการต่างๆ ในการสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชน โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา TRAFFIC ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในเมืองแอดดิส อบาบา (Addis Ababa) ประเทศเอธิโอเปีย สำหรับนักธุรกิจและประชาชนสัญชาติจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแอฟริกาเพื่อรับมือกับปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายที่กำลังเติบโตมากขึ้น การทำข้อตกลงกับภาคอุตสาหกรรมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจากบริษัทขนส่งสินค้าชั้นนำที่ประกอบกิจการในประเทศจีน 17 แห่ง ได้ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชนร่วมกันในการไม่ยอมรับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
ในปัจจุบันจีนและไทยเป็นตลาดค้างาช้างที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แม้ว่าทั้งสองประเทศจะพยายามจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยประเทศไทยได้ออกกฎหมายที่จำเป็นในการควบคุมการครอบครองงาช้างทั้งในภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงการที่รัฐบาลจีนสั่งห้ามนำเข้าสินค้างาช้างทุกชนิดชั่วคราว
โดยในช่วงหลายปีมานี้ มีช้างที่ถูกฆ่าเอางาเพียงเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดงาช้างผิดกฎหมายมากกว่า 22,000 ตัวต่อปี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit