นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับจังหวัดโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 9 ของรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้ลงนามด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านกรอบของความร่วมมือใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับ จังหวัดโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิด ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จากจังหวัดโทยาม่าและประเทศไทย 2. กระทรวงอุตสาหกรรมกับจังหวัดโทยาม่าจะมีการร่วมมือเพื่อการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดโทยาม่าและประเทศไทยในการขยายธุรกิจในระดับสากล 3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดกัน เช่น การจัดการโครงการแลกเปลี่ยน ด้านอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการประชุมทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามความร่วมมือกับหลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดชิมาเน่ จังหวัดไอจิ จังหวัดไซตามะ จังหวัดยามานะชิ จังหวัดอะคิตะ จังหวัดโทโทริ เมืองคาวาซากิ และจังหวัดฟุกุอิ เพื่อสร้างความร่วมมือ ด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs ของตนมีการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น เพื่อป้องกันการปิดตัวลงของ SMEs ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมักประสบปัญหาในการผลิต อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ตลาดที่หดตัวลง และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศไทยนั้น บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นเลือกลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศ AEC เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนมีความพร้อมในการเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
นายจักรมณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดโทยาม่าเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของเกาะญี่ปุ่น และ ถือเป็นประตูสู่ประเทศทางฝั่งทะเลญี่ปุ่น มีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูก เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ มีอุตสาหกรรมการผลิตที่หลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์หุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตยา และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพสูงของประเทศญี่ปุ่น ขณะที่การลงทุนในประเทศไทยของจังหวัดโทยาม่ามีบริษัทเข้ามาลงทุนแล้ว 58 บริษัท เป็นจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 31 โรงงาน ในจำนวนนี้เป็นโรงงานประเภทอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด อาทิ บริษัท โฮคุริคุ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตัวต้านทานกระแสไฟฟ้าชิพต้านทานกระแสไฟฟ้า แผงวงจรรวมผสมและเซ็นเซอร์เทอร์มิสเตอร์ และบริษัท ทานากะ พรีซิสชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตลำโพง และส่วนประกอบเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะโดดเด่นในปี 2558 และดึงความสนใจในการเข้ามาลงทุน จากประเทศญี่ปุ่นได้มากขึ้น อันดับต้น ๆ คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอุตสาหกรรมไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2557 ไทยสามารถส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้สูงถึง 1.363 ล้านล้านบาท และ 5.8 แสนล้านบาท ตามลำดับ ( ข้อมูล : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ) นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอาหาร ที่ไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลกเนื่องจากสามารถผลิตผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลาย มีคุณภาพ และมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งวัตถุดิบที่หาได้ภายในประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นที่นิยมนำเข้าวัตถุดิบแช่แข็งจากไทย โดยเฉพาะไก่สดแช่แข็ง ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยสูงถึง ร้อยละ 49 จากการส่งออกไก่สดแช่แข็งจากไทยในปี 2557 ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6 จากปีก่อน (ข้อมูล : สถาบันอาหาร) นายจักรมณฑ์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และจังหวัดโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดพิธี ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยมีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายทาคาคาซึ อิชิอิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทยาม่า ร่วมลงนาม รวมถึงการลงนามระหว่างตัวแทนบริษัท ซีดีไอพี จำกัด และ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี จำกัด ของประเทศไทย กับ บริษัทโคเคนโด จำกัด ของจังหวัดโทยาม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พระราม 6 กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โทร. 0 2202 4426-7
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit