กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยผลสำรวจการลงทุนและจ้างงานพบ 223 บริษัทเดินหน้าเพิ่มการจ้างงานรับกระแสยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และเกษตร ขณะที่ 116 บริษัทวางแผนขยายการลงทุนในปีนี้ รวมมูลค่าเงินลงทุน 177,926 ล้านบาท นำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก และกลุ่มบริการและสาธารณูปโภค
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้สำรวจภาวะการจ้างงาน การผลิตและการจำหน่ายของบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งบีโอไอทำการสำรวจเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง โดยผลการสำรวจ ณ เดือนมกราคม 2553 มีบริษัทตอบแบบสำรวจจำนวน 412 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทมีมูลค่าเงินลงทุนของทุกโครงการรวมกันตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป พบว่า ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมส่วนใหญ่จำนวน 223 บริษัทหรือร้อยละ 54 ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจจะเพิ่มการจ้างงาน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนผลสำรวจเรื่องแผนขยายการลงทุนในปี 2553 พบว่า มีจำนวน 116 บริษัท มีแผน จะขยายการลงทุนในปีนี้ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 177,926 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนขนาด 200 – 500 ล้านบาท จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่หากเป็นโครงการขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท จะอยู่ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก กิจการบริการและสาธารณูปโภค
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 68 โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตในทุกอุตสาหกรรม เพราะมียอดคำสั่งสั่งซื้อเริ่มกลับคืนมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกของบริษัทที่ได้รับส่งเสริมในปี 2553
คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท โดยการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมเกษตรจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าปีนี้ ทุกอุตสาหกรรมจะมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 หรือประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท
นางอรรชกา กล่าวถึงภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 2 เดือนแรกของปี 2553 พบว่า
มียอดขอรับการส่งเสริมลงทุนมูลค่าประมาณ 78,800 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 25 ทั้งนี้เพราะในเดือนมกราคมปี 2552 ได้มีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 81,000 ล้านบาท
แต่หากพิจารณาจากจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จาก 125 โครงการเป็น 200 โครงการ เกิดการจ้างงาน 29,647 คน โดยอุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจขอรับส่งเสริมลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ บริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุนรวม 49,400 ล้านบาท อันดับที่ 2 คือ อุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการลงทุนรวม 9,900 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 7,300 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วง 2 เดือนแรก พบว่า ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่มีการลงทุนในประเทศไทยสูงสุดทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 43 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น และมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 12,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 2 เท่า ส่วนใหญ่เป็นโครงการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่ประเทศจีน มีการลงทุนรองลงมา โดยมีมูลค่าลงทุนรวม 6,238 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เงินลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit