กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของโลก ทุ่มงบวิจัยพัฒนากว่า 100 ล้านบาท มุ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม ที่เน้นคุณภาพและยั่งยืน

15 Dec 2014
ทียูเอฟ ตอบรับนโยบายบีโอไอในการสนับสนุนด้านงานวิจัยของบริษัทไทย สร้างนวัตกรรมจากฐานปฏิบัติการวิจัยปลาทูน่า เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้มีคุณค่าสูงสุดต่อผู้บริโภค และสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมคณาอาจารย์ และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ส่งเสริมการพัฒนาวิทยาการโภชนาการที่ยั่งยืน

บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์ชั้นนำปลาทูน่าบรรจุกระป๋องอันดับหนึ่งของโลก ได้ริเริ่มความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา กับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งแรก (Global Innovation Incubator – GII) มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือทั่วโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตและหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับลูกค้า ผู้บริโภค และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงทางวิทยาการโภชนาการสมัยใหม่เข้ากับนวัตกรรมการผลิต เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมอาหารโลก

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน กล่าวให้ความเห็นว่า “ปัจจุบัน การสร้างคุณค่านวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้โดดเด่นและยั่งยืน การคิดค้นพัฒนานวัตกรรมจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างความแตกต่าง และเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอาหารของโลก ทั้งนี้ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ถือเป็นการตอบโจทย์หนึ่งในกลยุทธ์หลักของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณค่าทางนวัตกรรมซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันการเติบโตของรายได้กลุ่มให้ถึงเป้าหมายที่ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในอีก 6 ปีข้างหน้านี้

และในฐานะที่กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน ถือเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจอาหารอันดับต้นๆ ของโลกโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารทะเล ปลาทูน่าจึงถือเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญต่อธุรกิจของเราเป็นอย่างมาก และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้หมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ และสร้างนวัตกรรมความยั่งยืนให้เกิดเป็นรูปธรรมให้กับกลุ่มบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง อนึ่งการสร้างคุณค่าทางนวัตกรรมที่สำคัญ จะต้องเน้นไปที่ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้บริโภค คู่ค้าภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึง นักวิชาการ ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่านวัตกรรมที่จะนำออกสู่ตลาดนั้นจะก่อประโยชน์สูงสุดและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและผู้บริโภคอย่างแท้จริง”“ทียูเอฟ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างคุณค่านวัตกรรมดังกล่าว จึงได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอย่างเป็นทางการแห่งแรกของโลกในวันนี้ ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความร่วมมือระดับโลกของทียูเอฟ กับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ของทียูเอฟเองอีกด้วย”

ทางด้าน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล - ศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการคิดค้นนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะมีผลอย่างมากทั้งต่อคุณภาพชีวิต ความมั่นคงด้านอาหาร การสร้างงาน เศรษฐกิจ สังคม และต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน ส่วนหนึ่งคือการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาค้นคว้าแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ระหว่างนักวิจัยในทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาด้านต่างๆ ของทุกภาคส่วน

การริเริ่มความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิทยาศาสตร์ กับเครือข่ายนักวิจัยของทียูเอฟทั่วโลก โดยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม Global Innovation Incubator (GII) ของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน ในครั้งนี้ จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมด้านโภชนาการ เพื่อยังประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยและสร้างคุณค่าต่อผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อผู้บริโภคต่อไป มหาวิทยาลัยมหิดลได้รวบรวมบรรดาคณาจารย์และนักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมทีมวิจัยที่ศูนย์นวัตกรรมฯ ดังกล่าว เพื่อร่วมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ในอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้ทัดเทียมกับคู่แข่งในระดับโลกอันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจต่อมหาวิทยาลัยมหิดลและสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป”

ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน กล่าวปิดท้ายว่า “ผมมีความยินดีเป็นอย่างมาก ที่ศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรลุผลสำเร็จพร้อมเปิดดำเนินงานเพื่อการวิจัยโครงการต่างๆ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยกับเครือข่ายของทียูเอฟทั่วโลกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ศูนย์ฯ จะเริ่มงานวิจัยได้ในเดือนมกราคมปี 2558 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าหมายภายในระยะเวลา 1-2 ปี จะมีผลงานที่ค้นคว้านวัตกรรมออกมาให้ทุกคนเห็น โดยเริ่มที่การพัฒนาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากปลาทูน่า ให้มีคุณประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค”

“ที่สำคัญที่สุดคือ ผมมีความภาคภูมิใจที่บรรดาคณาจารย์ผู้ส่งคุณวุฒิอันดับต้นๆ ในระดับประเทศ และระดับโลกจากแขนงต่างๆ กว่า 60 ท่านร่วมผนึกกำลังความรู้ความสามารถ มุ่งผลักดันบริษัทคนไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านอาหารของโลก อันจะนำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศชาติของเราต่อไป” ทั้งนี้ ทีมคณะนักวิจัยในศูนย์นวัตกรรมของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน (Global Innovation Incubator – GII) ประกอบไปด้วยทีมนักวิจัยกว่า 60 คน ได้แก่คณะที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientist Advisory Board -SAB) จำนวน 5 คน คณะนักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิ (Principle Investigator) จำนวน 16 คน และมีผู้ช่วยนักวิจัย (Research Assistant) 24 คน รวมถึงทีมนักวิจัยของทียูเอฟอีก 20 คนสำหรับโครงสร้างของศูนย์นวัตกรรมทียูเอฟ ประกอบไปด้วย 6 ฐานปฏิบัติการหลัก (Platform) ได้แก่- โครงการฐานปฏิบัติงานที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของปลาทูน่า (Fundamental Studies of TUNA) - โครงการฐานปฏิบัติงานที่ 2 การศึกษาปลาทูน่าเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและอนามัย (Health & Wellness Benefits from TUNA)- โครงการฐานปฏิบัติงาน ที่ 3 การศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการผลิตและแปรรูปปลาทูน่า (New Processing Technology)- โครงการฐานปฏิบัติงาน ที่ 4 การศึกษาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลพลอยได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่า (Co-products Science and Technology)- โครงการฐานปฏิบัติงาน ที่ 5 การศึกษาคุณสมบัติทางด้านประสาทสัมผัสและความต้องการของผู้บริโภคของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า (Sensory properties of tuna products and consumers research)- โครงการฐานปฏิบัติงานสุดท้าย คือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าใหม่ๆ (Perfect TUNA product research and development)