การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา

07 Aug 2014
สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม แนะวิธีการผลิตและการเก็บรักษาเชื้อราไตรโครเดอร์มาควบคุมโรคพืชเพื่อลดการใช้สารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เป็นเชื้อราที่มีสีเขียว เจริญได้ดีในดินและบนเศษซากอินทรีย์ วัตถุตามธรรมชาติ เป็นปฏิปักษ์และปรสิตต่อเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืชหลายชนิด ทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก และ ไม้ดอกไม้ประดับ ชอบสภาพที่มีความชื้น เจริญและสร้าง เส้นใยและสปอร์ครอบคลุมพื้นที่บริเวณรากพืชได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างปฏิชีวนสาร เพื่อยับยั้งทำลายเส้นใยของเชื้อโรคจนเกิดการเหี่ยวสลาย และตายในที่สุด

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา เกษตรกรสามารถทำได้เอง มีขั้นตอนดังนี้๑.หุงข้าว หรือปลายข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ในอัตรา ข้าว 3 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วนซึ่งเมื่อหุงออกมาแล้วจะได้ข้าวในลักษณะกึ่งสุกกึ่งดิบ2. ตักข้าวที่หุงสุกใหม่ๆใส่ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8x12 นิ้ว ถุงละ 250 กรัม (ประมาณ 3 ทัพพี)รีดอากาศออก แล้วพับปากถุง วางไว้ให้อุณหภูมิอุ่นเกือบเย็น3. เทหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาใส่ลงไปบนข้าวในถุงพลาสติก โดยใส่เพียงเล็กน้อย รัดปากถุงด้วยยางรัด แล้วคลุกเคล้า ให้ทั่วถุง (1 ขวด ๒0 กรัม ใส่ได้ประมาณ 80 ถุง)4. ใช้ปลายเข็มหมุดแทงรอบๆปากถุงใต้บริเวณยางรัด 15-20 จุดเพื่อให้อากาศภายในถุงถ่ายเทได้เล็กน้อย แล้วแผ่ข้าวสุกให้แบนราบ พร้อมกับโหย่งถุงด้านบนขึ้น5. นำไปวางบ่มเชื้อไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท และมีแสงสว่างส่องถึงหรือเปิดไฟให้แสงสว่าง6. ครบ 2วัน ขยำคลุกเคล้าข้าวในถุงอีกครั้ง แล้ววางไว้ที่เดิมอีก 5-7 วัน เชื้อจะเจริญเต็มถุงและมีสีเขียวเข้ม 7. นำไปใช้เมื่อบ่มเชื้อครบ 7 วันแล้ว ถ้ายังไม่ใช้ต้องเก็บถุงเชื้อไว้ในตู้เย็น แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 15 วัน

การเก็บรักษาเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด ถ้ายังไม่ได้นำไปใช้จะเก็บไว้ได้ประมาณ 15 วัน หรือเก็บรักษาไว้ที่เย็น อุณหภูมิ 7 – 10 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 30-45 วัน ไม่ควรเก็บนานกว่านี้จะทำให้เชื้อไม่แข็งแรงเสื่อมคุณภาพ

เกษตรกรที่สนใจจะผลิตและขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อควบคุมโรคราพืช ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางราชการ ตั้งอยู่ที่ชั้น ๒ อาคารสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามหมายเลขโทรศัพท์ ๐๔๓-๗๗๗๑๓๗ และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔