รายงานของ Economist Intelligence Unit ชี้ทั่วโลกต้องคิดใหม่ทำใหม่เชิงนโยบายเพื่อจัดการกับ “ภัยเงียบ” ของโรคไวรัสตับอักเสบซี

16 Jan 2013

ลอนดอน--16 ม.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์


- บรรดาผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีที่ครอบคลุมในการแก้ปัญหาสุขภาพระดับโลก -


รายงานฉบับใหม่ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ในหัวข้อ “โรคระบาดเงียบ: จัดการกับโรคไวรัสตับอักเสบซีด้วยการคิดใหม่ทำใหม่เชิงนโยบาย” ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัท แจนเซ่น ฟาร์มาซูติกา (Janssen Pharmaceutica NV) และเผยแพร่ในวันที่ 15 มกราคม ได้ตอกย้ำว่านานาประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งพัฒนายุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องกับโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[1]


สามารถชมข่าวประชาสัมพันธ์ในรูปแบบมัลติมีเดียได้ที่

http://www.multivu.com/mnr/58671-janssen-silent-pandemic-hepatitis-c

แม้จำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซียังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดเนื่องจากขาดข้อมูล แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าปัจจุบันน่าจะมีผู้ติดโรคไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 150 ล้านคนทั่วโลก[2] และอาจมีผู้ป่วยสูงถึง 2 ใน 3 ของจำนวนนี้ที่กลายเป็นโรคตับเรื้อรัง ขณะที่ราว 1 ใน 5 จะกลายเป็นโรคตับแข็ง[2] นอกจากนี้ โรคไวรัสตับอักเสบซียังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยทั่วโลกต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ[1] และในสหรัฐอเมริกา โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่าเอชไอวี[1]


“รายงานฉบับนี้ย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบและความรุนแรงของโรคไวรัสตับอักเสบซี ทั้งที่โรคนี้สร้างภาระอย่างมาก” ชาร์ลส์ กอร์ (Charles Gore) ประธานสมาพันธ์โรคตับอักเสบสากล (World Hepatitis Alliance) กล่าว “ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและประชากรจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งหากผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายไม่เผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ตอนนี้”


แม้ว่าโรคไวรัสตับอักเสบซีจะมีความรุนแรง แต่รายงานระบุว่าโรคนี้ป้องกันได้และผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายขาดได้หากได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ทันสมัย[1] อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีผู้ป่วยเพียง 10% ที่ได้รับการรักษา และมีความเหลื่อมล้ำอย่างมากในการรักษาในหลายประเทศ[1] รายงานนี้จึงเรียกร้องให้นานาประเทศใช้ “วิธีที่ครอบคลุม” ซึ่งคำนึงถึงความต้องการในระดับท้องถิ่นรวมถึงเรื่องทรัพยากรต่างๆ วิธีดังกล่าวประกอบด้วย[1]


- การเฝ้าระวังโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนานโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ รายงานระบุว่าในระยะนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ที่ทำการศึกษาสถิติทางวิทยาการระบาดซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบายที่ดีในระดับชาติ รวมถึงในระดับท้องถิ่น โดย EIU เปิดเผยว่า 16 ประเทศในสหภาพยุโรปมีข้อมูลสถิติทางวิทยาการระบาดน้อยมากหรือไม่มีเลย[1]


- การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโรคมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอคติเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบซี และทำให้เข้าใจโรคมากขึ้น[1] ผลสำรวจของสมาคมผู้ป่วยโรคตับแห่งยุโรป (European Liver Patients Association) เผยว่า มีผู้ป่วยเพียง 20% ที่เคยได้ยินเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ก่อนที่ผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค[1] (สามารถดูผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ http://www.hepbcppa.org/wp-content/uploads/2011/11/Report-on-Patient-Self-Help.pdf)


- การใช้มาตรการป้องกันเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง และการให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว นอกจากนี้ รายงานยังเรียกร้องให้มีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่มีการแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบซีในประเทศกำลังพัฒนา[1]


- การพัฒนาแนวทางใหม่ๆในการเข้าถึงผู้ป่วย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดอาการที่ไม่สามารถรักษาได้[1]


“รายงานนี้เน้นย้ำว่าแต่ละประเทศมีความต้องการและทรัพยากรที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรับมือกับโรคไวรัสตับอักเสบซีและปัญหาด้านสาธารณสุข ช่วยกันทำให้ประชาชนตระหนักถึงโรคมากขึ้น และพยายามหาวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ” แกสตัน พิคคิโอ (Gaston Picchio) ผู้นำด้านโรคตับอักเสบทั่วโลกของบริษัทแจนเซ่นกล่าว “แจนเซ่นมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับชุมชนโรคไวรัสตับอักเสบซี และจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดูแลผู้ป่วยทั่วโลก เพื่อสนับสนุนความพยายามของบุคคลเหล่านี้ในการลดภาระของผู้ป่วยและสังคมอันเกิดจากโรคที่รุนแรงนี้”


สามารถดูรายงานฉบับเต็มของ EIU และเอกสารสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงข้อมูลรูปภาพ ได้ที่ http://www.janssen-emea.com/The-silent-pandemic


เกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบซี


โรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคติดต่อทางเลือดที่ส่งผลกระทบต่อตับของผู้ป่วย[3],[4] โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 150 ล้านคนทั่วโลก[2] และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 3-4 ล้านคนในแต่ละปี โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นภาระอันใหญ่หลวงต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองและสังคม[5] WHO ประเมินว่าโรคไวรัสตับอักเสบซีทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตไปกว่า 86,000 คน และต้องสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability-Adjusted Life Years: DALYs) ไปถึง 1.2 ล้านปี ในยุโรปในปี 2545 (ข้อมูลล่าสุดเท่าที่มี)[6] นอกจากนี้ การติดเชื้อเรื้อรังจากโรคไวรัสตับอักเสบซีอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตับรวมถึงโรคตับอื่นๆที่มีอันตรายถึงชีวิต[7] ทั้งนี้ ราว 1 ใน 4 ของการผ่าตัดเปลี่ยนตับใน 25 ประเทศยุโรปในปี 2547 เป็นผลพวงมาจากโรคไวรัสตับอักเสบซี (อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุด)[6]


เกี่ยวกับ แจนเซ่น


แจนเซ่นอุทิศตนเพื่อจัดการและตอบสนองความต้องการทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นที่สุดในยุคนี้ ทั้งในด้านโรคติดเชื้อและวัคซีน มะเร็งวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา ประสาทวิทยาศาสตร์ ตลอดจนโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเมตาบอลิก ด้วยความห่วงใยที่เรามีต่อผู้ป่วย เราจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชั่นการดูแลสุขภาพที่มีความทันสมัย เพื่อช่วยเหลือผู้คนทั่วโลก สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.janssen.com


อ้างอิง:


1. Economist Intelligence Unit. 2012. The Silent Pandemic: Tackling Hepatitis C with Policy Innovation. Available at: http://www.managementthinking.eiu.com/

2. World Health Organization. Hepatitis C Fact Sheet. Available at: http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs164/en/index.html (last accessed December 2012)

3. Simin, M et al. 2007. Cochrane systematic review: pegylated interferon plus ribavirin vs. interferon plus ribavirin for chronic hepatitis C. Alimentary Pharmacology & Therapeutics 25 (10): 1153-62.

4. Centres for Disease Control and Prevention. Hepatitis C FAQs. Available from: http://www.cdc.gov/hepatitis/C/cFAQ.htm#transmission (last accessed December 2012)

5. WHO. State of the art of vaccine research and development. Viral Cancers. Available from: http://www.who.int/vaccine_research/documents/Viral_Cancers.pdf (last accessed December 2012)

6. Muhlberger, N et al. 2009. HCV-related burden of disease in Europe: a systematic assessment of incidence, prevalence, morbidity, and mortality. BMC Public Health 9 (34): 1-14.

7. Lang K & Weiner DB. 2008. Immunotherapy for HCV infection: next steps. Expert Review of Vaccines 7 (7): 915-923.


วิดีโอ: http://www.multivu.com/mnr/58671-janssen-silent-pandemic-hepatitis-c


แหล่งข่าว: แจนเซ่น


-ปป-