วาระ“เด็กอีสาน Young กล้าดี Hero” พื้นที่สร้างสรรค์ แบ่งปันการเรียนรู้

30 Jan 2013

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาที่ลานกิจกรรมหน้าศาลหลักเมือง ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยโครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัด:อุบลราชธานี สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภาคอีสาน (ศสอ.) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) โครงการพื้นที่นี้ดีจัง กลุ่มดินสอสี สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ Thai PBS และภาคีเครือข่ายการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนได้แก่ ร่วมกันจัดโครงการถนนเด็กเดินจังหวัดอุบลราชธานี ปีที่ 7 ภายใต้ ชื่อ ถนนเด็กเดิน ตอน “เด็กอีสาน Young กล้าดีHero” (I-San Young Hero) โดยมีนางเทพวัลย์ ภรณวลัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเยาวชน สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด

นายบริบูรณ์ แสนดวง ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีเปิดเผยว่า ในปี พ.ศ.2556 เป็นปีที่ 7 ของการดำเนินงาน คณะทำงานเล็งเห็นว่า "ถนนเด็กเดิน" ควรเป็นวาระที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละเดือน โดยเนื้อหาหลักที่มุ่งเน้นคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชนมีสุขภาวะที่ดี ลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา โดยใช้แนวคิดการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้น ต่อจากนี้คงมีการดำเนินงานในแต่ละเดือนจะมีการออกแบบพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อนำเสนอรูปแบบ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เป็นตอน ๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง

“งานครั้งนี้รูปแบบของงานแบ่งเป็น 9 โซน คือ โซนนิทรรศการมีบูธจากหน่วยงานราชการต่างๆ กว่า 30 บูธ โซนความรู้ โซนศิลปะโซนภูมิปัญญา โซนสุขภาพ โซนกีฬา โซนการละเล่น โซนอาชีพ โซนบริการ โซนอาหารและเครื่องดื่ม ที่น่าสนใจ คือ การฉายหนังสั้นจำนวน 4 เรื่องที่โครงการอีสาน Young กล้าดี พัฒนากระบวนการเรียนรู้และผลิตร่วมกับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ ผ่านแนวคิด “เด็กอีสานกับการรู้เท่าทันสื่อ” เป็นการแสดงศักยภาพของเด็กอีสานผ่านการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์”นายบริบูรณ์ กล่าว

นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ผู้ประสานงานเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน จตุภาคี 4 จังหวัด กล่าวว่า “งานครั้งนี้เป็นการยกระดับกิจกรรมที่ทำให้เป็นกลไกการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้นโดยการดึงความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนงานในมิติ "สื่อดี พื้นที่ ภูมิดี"โดยหวังผลรูปธรรมในอนาคตให้เกิดแกนนำเด็ก เยาวชนและเครือข่ายขับเคลื่อนการรู้เท่า รู้ทันฉลาดใช้สื่อให้มากขึ้น

“สิ่งสำคัญนอกจากการฉายหนังสั้นของโครงการอีสาน Young กล้าดี ยังมีการประกาศวาระจังหวัดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี ในนามเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภาคอีสาน เพื่อเสนอทิศทางการดำเนินงานให้เป็นวาระจังหวัดต่อจากนี้ ในลักษณะร่วมกันพัฒนา ผลักดันให้เกิดกลไกการทำงานและสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย โดยเน้นความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น เนื้อหา และกระบวนการผลิตสื่อเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในภาคอีสานต่อไป” นายศุภชัย กล่าว

ทางด้านนางสาวกัญญาณี เอี่ยมทศ คณะทำงานโครงการอีสาน Young กล้าดี หนึ่งในตัวแทนเยาวชนประกาศวาระจังหวัด กล่าวว่า “การประกาศวาระจังหวัดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี ในวันนี้ยังแสดงถึงพลังของภาคประชาสังคม และภาคราชการ สื่อมวลชน สถาบันการศึกษาในระดับท้องถิ่น ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาที่เชื่อมโยงกับอิทธิพลของสื่อซึ่งมีแนวโน้มที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการรับรู้และเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการปฏิบัติตนของเด็กเยาวชนมากขึ้น เช่น เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่สูงขึ้น สร้างค่านิยมและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม และเป็นต้นเหตุของปัญหาความรุนแรงในสังคมอีกนับไม่ถ้วน

"ถ้ามีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์?เกิดขึ้น เชื่อว่าเป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนและสร้างการเรียนรู้ให้เกิดพื้นที่ดี สื่อดี และภูมิกันดีให้เด็กเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับประชาชน เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร มีผู้แทนภาคประชาชน จากเครือข่ายต่างๆ เข้าเสนอร่าง พรบ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในที่ประชุมรัฐสภา งานครั้งนี้จึงเชื่อมโยงเจตจำนงให้ทุกคนได้เป็นสักขีพยาน และเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ของการพิจารณาพระราชบัญญัติ ที่มีผลต่ออนาคตของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่จะมีผลบังคับใช้เร็วนี้ด้วย" นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับสิ่งที่คณะทำงานและเยาวชนได้เรียนรู้จากการดำเนินงานครั้งนี้

นางสาวพุ่มมะลิ สารกอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล้าดี กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานสิ่งแรกคือได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานอย่างแท้จริงและการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกอย่าง เช่นน้องๆจากสภาเด็ก น้องๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในทุกๆเรื่องและเนื่องจากหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจึงทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้การเป็นผู้นำ การวางแผนงาน การแจกจ่ายงาน เพื่อให้ทีมได้ช่วยกันทำงานให้ประสบผลสำเร็จและได้เล็งเห็นว่าการที่ทีมเราทุกคนมองภาพงานออกมาเป็นแบบเดียวกันจะทำให้ปัญหาในการทำงานมีน้อยลงและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานว่าก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไปเราต้องมีสติในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของอาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ อาจารย์แพรวพรรณ อัคคะประสา ที่มองว่างานครั้งนี้เปรียบเสมือน “การลงแขกเกี่ยวข้าวในอดีต” ที่สะท้อนให้เห็นการพึ่งพา เกื้อกูล และการช่วยเหลือกันด้วย “ใจ” โดยปราศจากค่าจ้าง เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือการเก็บเกี่ยวข้าวให้เสร็จเร็วที่สุด เพราะถ้าการเก็บเกี่ยวข้าวใช้เวลานานจะทำให้ข้าวแห้งกรอบไม่ได้คุณภาพ

"ภาพความความสำเร็จที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดของการจัดงานถนนเด็กเดินในครั้งนี้ คือ ภาพของความร่วมแรง ร่วมใจกัน ของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนมาร่วมกันจัดงานนี้ ด้วย “ใจ” โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือร่วมมือกันสร้างพื้นที่สาธารณะของเด็กและเยาวชน และขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัดอุบลราชธานี นัยยะที่ซ่อนอยู่หลังภาพของความสำเร็จ คือจุดเริ่มของการเชื่อมโยงการทำงานด้านเด็กและเยาวชนของหน่วยงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน ที่กำลังจะเปลี่ยนจากต่างคน ต่างทำ ทำเยอะ ประสบผลสำเร็จแต่พลังน้อย เปลี่ยนเป็นต่างคน ต่างทำ นำมาแลกเปลี่ยน หาจุดร่วมและทำงานร่วมกัน ความสำเร็จจากการทำงานจะกลายเป็นพลังมหาศาลในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม"อาจารย์แพรวพรรณ กล่าว

บรรยากาศของงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีเด็กเยาวชนจากโรงเรียน และ อปท.ในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วมเรียนรู้มากกว่าสามพันคน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยประยุกต์จากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยลาลัยอุบลอุบลราชธานี วงโปงลางจากโรงเรียนอนุบาลอุบลฯ วงbattle B-boy จาก โรงเรียนวัดศรีอุบลฯ การประกวดแต่งกาย “ Hero อีสานในดวงใจ” กิจกรรมการเรียนรู้สื่อสารสาธารณะจาก สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สสว.) Thai PBS และการแสดงจากเครือข่ายเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม ในคอนเสิร์ตเพลงไอดอลหนูนอนอยู่เฮือน รวมทั้งกิจกรรมการตอบคำถาม เล่นเกมชิงของรางวัลมากมายภายในงานอีกด้วย

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net