กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์กล่าวว่าการระดมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ของธนาคารพาณิชย์เอกชนไทยขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (‘BBB+’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (‘BBB+’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (‘BBB+’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตในระดับที่จำกัด เนื่องจากการระดมเงินผ่านตลาดทุน (wholesale funding) ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับฐานเงินทุนของธนาคาร อย่างไรก็ตามการพึ่งพาเงินทุนจากตลาดทุนที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นต่ออัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงแล้ว
ฟิทช์มองว่าการออกหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของธนาคารทั้ง 3 แห่งจำนวน 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน กันยายน 2555 เกิดจากสภาพตลาดที่เอื้ออำนวยในการออกหุ้นกู้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่จูงใจและนักลงทุนมีความต้องการหุ้นกู้ดังกล่าว เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่บริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการเงินทุนเพื่อการซื้อกิจการและขยายกิจการในต่างประเทศ การออกหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐดังกล่าวยังช่วยให้ธนาคารมีการกระจายแหล่งที่มาของเงินทุนและการบริหารจัดการอายุสินทรัพย์และหนี้สิน (asset-liabilities maturity mismatch) ที่แตกต่างกันให้ดีขึ้น
สินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยธนาคารพาณิชย์เอกชนขนาดใหญ่ของไทยได้พึ่งพาการระดมทุนระยะสั้นจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยน (Swap) และการกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank) ในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่อื่น เช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (‘BBB’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ก็อาจมีการพิจารณาการระดมทุนในรูปแบบดังกล่าวเช่นกันในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าธนาคารขนาดกลางและเล็ก โดยเฉพาะธนาคารที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับสูง น่าจะยังคงเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านเครือข่ายเงินฝากภายในประเทศมากกว่า แม้ว่าตลาดเงินฝากจะมีการแข่งขันรุนแรงก็ตาม
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit