หอดูดาวฝรั่งเศสเชิญเด็กไทย ใช้กล้องโทรทรรศน์ สังเกตดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

13 Jan 2009

กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--สวทช.

เมื่อวันที่ 13 มกราคม น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า หอดูดาวออพเซอร์วาทัว เดอ โอ๊ต โปรวองส์ (Observatoire de Haute-Provence : OHP) หอดูดาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฝรั่งเศส ได้เชิญตัวแทนยุววิจัยลีซ่าเข้าปฏิบัติการวิจัยที่หอดูดาวระหว่างวันที่ 2 - 5 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ โดยจะมีตัวแทนยุววิจัยลีซ่าที่มีผลงานวิจัยเด่นทางด้านดาราศาสตร์เข้าร่วมเดินทางในฐานะตัวแทนประเทศไทยจำนวน 7 คน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

น.อ.ฐากูร กล่าวว่า การได้รับเชิญครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมายุววิจัยลีซ่าได้นำข้อมูลจากหอดูดาว OHP มาใช้ศึกษาองค์ประกอบของดาวฤกษ์ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลสเปคตรัม ซึ่งผลงานและความตั้งใจในการทำวิจัยของเด็กๆ ได้สร้างความประทับใจต่อ ดร.มิเชล บัวร์ (Dr.Michel Boer) ผู้อำนวยการหอดูดาว OHP มาก จึงได้ส่งหนังสือเชิญเด็กไทยเข้าเยี่ยมปฏิบัติการวิจัยที่หอดูดาว OHP

“ ที่พิเศษมากคือ ทางหอดูดาวจะเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ทั้งหมดทั้งสามชุด คือ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.93 เมตร, 1.52 เมตร และ 1.20 เมตร และเครื่องสเปคโตรมิเตอร์ สำหรับสังเกตดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงปกติพื้นที่หอดูดาวในส่วนนี้จะเปิดให้นักดาราศาสตร์เช่าทำงานวิจัยคิดเป็นมูลค่านับแสนบาททีเดียว จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่เด็กไทยจะได้ใช้เครื่องมือทางด้านดาราศาสตร์ที่ทันสมัย ได้เรียนรู้และสัมผัสชีวิตนักดาราศาสตร์ชั้นนำของโลกอย่างใกล้ชิด เพราะตลอดการทำวิจัย จะมีผู้เชี่ยวชาญและนักดาราศาสตร์มืออาชีพคอยให้ความรู้และคำแนะนำ”

นอกจากนี้ยุววิจัยลีซ่ายังมีโอกาสได้เยี่ยมชมศูนย์อวกาศที่เมืองตูลูส และองค์การเซิร์น(CERN) ซึ่งมีห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ที่ติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider - LHC) ภายในอุโมงค์ใต้ดินรูปวงแหวนขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ใต้ดินของประเทศฝรั่งเศสและสวิสเซอร์แลนด์อีกด้วย

นายทวีวัฒน์ สมบูรณ์ปัญญากุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนของเด็กไทยที่จะได้เข้าเยี่ยมชมหอดูดาวออพเซอร์วาทัว เดอ โอ๊ต โปรวองส์ ซึ่งนอกจากจะได้เข้าไปสัมผัสหอดูดาวที่ยิ่งใหญ่มากแล้ว ยังมีโอกาสได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ในการสังเกตและเก็บข้อมูลดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพื่อนำมาใช้วิจัยด้วย ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก โดยขณะนี้ตนและเพื่อนๆ ได้เตรียมตัวอย่างเต็มที่ด้วยการศึกษาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ พร้อมทั้งมีการเข้าฝึกอบรมการใช้กล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวเกิดแก้ว จ.กาญจนบุรีเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนด้วย เพื่อให้เกิดทักษะและความชำนาญ ซึ่งหวังว่าการเดินทางไปครั้งนี้จะเก็บเกี่ยวความรู้กลับมาให้มากที่สุด และจะตั้งใจอย่างเต็มที่เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

เช่นเดียวกับ นายภาษิต พิพิธวณิชธรรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่จะได้เข้าชมหอดูดาวระดับโลก และได้พบกับนักดาราศาสตร์ชั้นนำจึงทำให้รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก โดยจะตั้งใจเรียนรู้ให้มากที่สุด เพื่อนำสิ่งที่ได้มาศึกษาวิจัยในเรื่องการหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาข้อมูลที่ใช้ศึกษายังหาคำตอบได้ไม่ชัดเจน เหมือนที่นักดาราศาสตร์ศึกษากัน จึงอยากไปเรียนรู้ เก็บเกี่ยวเทคนิคต่างๆ สำหรับนำกลับมาใช้ต่อไป นอกจากนี้ยังมีโอกาสเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่เซิร์น ซึ่งเป็นสถานีทดลองที่สุดขอบความรู้ของมนุษยชาติอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : [email protected]