กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--เอซี นีลเส็น(ประเทศไทย)
ผลการสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของผู้บริโภคจาก 47 ประเทศชิ้นล่าสุดจาก เอซีนีลเส็น ผู้นำด้านการวิจัยทางการตลาดและข้อมูลชั้นนำของโลก พบว่าปัญหาด้านสุขภาพที่ผู้บริโภคชายไทยประสบมากที่สุด คือ ปวดศีรษะ อันดับต่อมาคือ โรคนอนไม่หลับ และ เจ็บคอ พบเกือบครึ่งของผู้บริโภคชาวไทยเลือกที่จะใช้ยาที่มีอยู่ที่บ้านในการรักษาก่อนที่จะไปพบแพทย์
จากผลการสำรวจของนีลเส็นพบว่า ปัญหาด้านสุขภาพที่ผู้บริโภคทั่วโลกรวมทั้งผู้บริโภคชาวไทยประสบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ อาการปวดศีรษะ โดยมีผู้บริโภคทั่วโลกมากถึงสี่สิบสองเปอร์เซ็นต์เปิดเผยว่า พวกเขามีอาการปวดศีรษะภายในเดือนที่แล้ว ในขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนสิ่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ก็ประสบปัญหาดังกล่าวมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมยาแก้ปวดถึงเป็นกลุ่มยาที่ใหญ่ที่สุดในตลาดยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งแพทย์ที่หาซื้อได้ทั่วไป (OTC) ส่วนปัญหาสุขภาพที่ผู้บริโภคชาวไทยประสบรองลงมาได้แก่ อาการนอนไม่หลับ (30%) เจ็บคอ (27%) เป็นหวัด และอาการปวดต่างๆ (25%) ในขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนสิบสี่เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขาไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บภายในเดือนที่แล้วเลย
(ตารางที่1)
นอกจากนี้ นีลเส็นยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของผู้บริโภคในทวีปเอเชีย แปซิฟิค กล่าวคือ ผู้บริโภคชาวจีนจัดอยู่ในลำดับแรกของโลกที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการนอน โดยจำนวนสี่ในสิบคนเปิดเผยว่าตนทรมานกับอาการดังกล่าวในเดือนที่ผ่านมา ชาวสิงคโปร์จำนวนสามสิบเจ็ดเปอร์เซ็นต์จัดอยู่ในลำดับแรกของโลกที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับอาการเจ็บคอ นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่าหนึ่งในสามของชาวฟิลิปปินส์ยังประสบปัญหาเรื่องการไอมากกว่าทุกชาติในโลก รวมถึงชาวอินโดนีเซียที่ติดอันดับแรกของโลกด้วยจำนวนคนสี่สิบสี่เปอร์เซ็นต์ที่ประสบกับโรคไข้หวัดใหญ่ในสี่อาทิตย์ที่ผ่านมา
ชาวเกาหลีดูเสมือนว่าจะเป็นชาติที่มีอาการป่วยมากที่สุด โดยพบว่าพวกเขาติดอันดับแรกของโลกที่ประสบปัญหาจาก การเป็นไข้หวัด อาหารไม่ย่อย อาการจุกเสียดท้อง และปวดฟัน ส่วนชาติที่มีสุขภาพแข็งแรงที่สุดได้แก่ ชาวอินเดีย ญี่ปุ่นและโปรตุเกส โดยพบว่าผู้คนหนึ่งในสี่ยืนยันว่าตนไม่มีปัญหาด้านสุขภาพในรอบเดือนที่ผ่านมาเลย
คนส่วนใหญ่ทำอย่างไรเมื่อป่วย
จากผลสำรวจจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 26,486 คน ใน 47 ประเทศ จากทวีปยุโรป เอเชียแปซิฟิค อเมริกาเหนือ และ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอายุ 15 ปีขึ้นไป ในประเทศไทย เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่า วิธีที่ผู้บริโภคทั่วโลกรวมทั้งผู้บริโภคชาวไทยนิยมปฏิบัติมากที่สุดเมื่อตนมีอาการป่วยได้แก่ การใช้ยาที่มีอยู่แล้วที่บ้าน โดยพบว่าเกือบครึ่ง (47%) ของผู้บริโภคชาวไทยนิยมใช้ยาที่เคยใช้มาก่อนแล้วที่มีอยู่ที่บ้าน นอกจากนี้พบว่าประมาณหนึ่งในสาม (36%) เลือกที่จะไปพบแพทย์ ส่วนหนึ่งในห้าของชาวไทยใช้วิธีรักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติที่ทำได้เองที่บ้านโดยใช้ผัก ผลไม้หรือ สมุนไพรที่ปราศจากเคมี
และหาซื้อยาที่ร้านขายยาทั่วไป สิ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจก็คือ ชาวไทยจำนวนสิบสองเปอร์เซ็นต์ไม่ใช้อะไรเลยเมื่อตนมีอาการป่วย (ตารางที่2)
ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของผู้บริโภคในแต่ละทวีปที่มีการรักษาโรคที่แตกต่างกัน เช่นในทวีป อเมริกาเหนือ ผู้บริโภคค่อนข้างจะชอบไปร้านขายยามากกว่าการไปพบแพทย์ ในยุโรปและเอเชีย ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมที่จะพบแพทย์มากกว่าที่จะไปหาซื้อยาทั่วไปหรือใช้วิธีรักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติที่ทำได้เองที่บ้านโดยใช้ผัก ผลไม้หรือ สมุนไพรที่ปราศจากเคมี โดยชาติที่นิยมไปพบแพทย์เมื่อตนมีอาการป่วยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในโลกคือ ฮ่องกง (51%) ในขณะที่ผู้คนในแถบสแกนดิเนเวียน และเอเชีย แปซิฟิค อาทิ เดนมาร์ก (36%) นอร์เวย์ (33%) และไต้หวัน (28%) ติดอันดับแรกๆของโลก ที่ไม่ใช้อะไรเลยในการรักษาอาการป่วยของตน
ผู้บริโภคชาวไทยเชื่อคำแนะนำของเภสัชกรมากที่สุดในการตัดสินใจซื้อยา
ผลการสำรวจจากนีลเส็นยังพบว่าเมื่อผู้บริโภคชาวไทยต้องการซื้อยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งจากแพทย์ ชาวไทยจำนวนเจ็ดสิบเจ็ดเปอร์เซ็นต์ เชื่อถือเภสัชกรมากที่สุด ในขณะที่อีกสี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ของชาวไทยยอมรับว่าแบรนด์ของสินค้าที่ตนใช้อยู่ประจำมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ส่วนอีกยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์เชื่อถือโฆษณาในการเลือกซื้อยา (ตารางที่3)
สำหรับผู้บริโภคชาวเอเชีย การตัดสินใจเลือกซื้อยาส่วนใหญ่จะเลือกซื้อยาที่ตนเคยซื้อและใช้มาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง โดยจะเห็นได้จากผู้บริโภคมากกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์จาก ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน เลือกซื้อยาที่เป็นแบรนด์เดิมที่เคยใช้มาก่อน เช่นเดียวกับผู้บริโภคในแถบอเมริกาเหนือจำนวน หกสิบหกเปอร์เซ็นต์
สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือหนึ่งในห้าของผู้บริโภคทั่วโลก (19%) เปิดเผยว่าโฆษณาหรือคำแนะนำจากเพื่อนมีผลต่อการตัดสินใจต่อการเลือกซื้อยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ โดยผลการวิจัยพบว่าผู้บริโภคในแถบเอเซียแปซิฟิคเชื่อในโฆษณามากกว่าทวีปอื่นๆของโลก นำโดยประเทศจีน ด้วยจำนวนผู้บริโภคมากถึงสามสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจัดเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่เปิดเผยว่าโฆษณามี่ผลต่อการตัดสินใจซื้อของพวกเขา
ผลการสำรวจนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อบริษัทขายยาในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณอย่างมากในการลงโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนสำหรับชาวจีนซึ่งดูเสมือนจะเชื่อโมษณามากกว่าการไปพบแพทย์หรือสอบถามจากเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ จากผลการสำรวจจากนีลเส็น มีเดียร รีเสริช พบว่ากลุ่มบริษัทยาถือเป็นกลุ่มที่ใช้งบโฆษณามากที่สุดในประเทศจีนในปีที่แล้ว โดยใช้งบประมาณมากถึงเก้าพันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณเจ็ดเหรียญสหรัฐต่อชาวจีนหนึ่งคน ส่วนประเทศไทยพบว่ากลุ่มบริษัทยาใช้งบประมาณในการโฆษณาประมาณหนึ่งพันหกร้อยห้าสิบห้าล้านบาท ในปี 2549 ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากปี 2548 ประมาณสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์
เกี่ยวกับการสำรวจ
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นและความคิดเห็นออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วโลกของเอซีนีลเส็น จัดทำขึ้นสองครั้งต่อปี โดยมีจุดมุ่งหมายในการสำรวจระดับความเชื่อมั่น, พฤติกรรม/แนวโน้มการใช้จ่าย ปัจจัยกังวลของผู้บริโภคทั่วโลก ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกประเมินจาก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับตลาดงาน สถานภาพทางการเงิน และความพร้อมในการใช้จ่าย การสำรวจครั้งล่าสุดถูกจัดทำขึ้นประมาณปลายเดือนเมษายนปี 2550 จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 26,486 คน ใน 47 ประเทศ จากทวีปยุโรป เอเชียแปซิฟิค อเมริกาเหนือ และ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง
เกี่ยวกับนีลเส็น
บริษัทนีลเส็น จำกัด เป็นบริษัทเกี่ยวกับสื่อและข้อมูลทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในแวดวงการตลาดเป็นอย่างดีอาทิ “เอซีนีลเส็น” ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางการตลาด , “นีลเส็นมีเดีย รีเสริช” ให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางสื่อ “BASES” ให้บริการเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ( New product launch ) , สิ่งพิมพ์ทางธุรกิจอาทิ Billboard, The Hollywood Reporter และ Adweek รวมถึง Trade show และส่วนงานหนังสือพิมพ์ ( Scarborough ) โดยเป็นบริษัทเอกชนที่เปิดดำเนินการมากกว่า 100 ประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Haalem เนเธอร์แลนด์ และ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nielsen.com
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
The Nielsen Company
ACNielsen ( Thailand ) Ltd.
26/F United Center, 323 Silom Rd,Bangkok 10500
www.nielsen.com
นิจวรรณ คูหา ( นิกกี้ )
Email:[email protected]
Tel:02-231-1932 ext.132 or 089-772-770
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit