ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทยตกฮวบครึ่งปีแรกคว้าแชมป์ออมสูงสุดในโลกอีกครั้ง

12 Jun 2007

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--เอซี นีลเส็น(ประเทศไทย)

ผลการสำรวจออนไลน์ของผู้บริโภคจาก 47 ประเทศชิ้นล่าสุดจาก เอซีนีลเส็น ผู้นำด้านการวิจัยทางการตลาดและข้อมูลชั้นนำของโลก พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทยตกลงมากถึง15 จุด จากระดับ 107 ไปยัง 92 เมื่อเทียบจากผลสำรวจในรอบหกเดือนที่ผ่านมา พบผู้บริโภคชาวไทยมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสในด้านการงาน และเกือบครึ่งรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจกับสถานะทางการเงินของพวกเขาในปีหน้า ส่งผลให้ชาวไทยติดลำดับแรกของโลกอีกครั้งในความตั้งใจที่จะออมเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

จากผลการสำรวจของนีลเส็นพบว่าค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกตกลงเล็กน้อยจากระดับ 99 จากการสำรวจในรอบเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มาที่ระดับ 97 ในรอบการสำรวจในเดือนเมษายนปีนี้ ประเทศอินเดียยังคงติดอันดับแรกที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นสูงสุดอีกครั้ง ด้วยคะแนน 135 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 137 จากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา รองลำดับสองได้แก่ นอร์เวย์ (132) และลำดับสามได้แก่ เดนมาร์ก (127)

ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทย ในการสำรวจครึ่งปีแรกในปี 2549 อยู่ที่ระดับที่ 95 และเพิ่มขึ้น 12 จุดจาก 95ไปยังระดับ 107 จุดของครึ่งปีหลังในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งล่าสุดของครึ่งปีแรก ประจำปี 2550 พบว่า ความเชื่อมั่นชองชาวไทยตกมากถึง15 จุด มาระดับที่ 92 ซึ่งถือเป็นระดับที่ลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในโลก

ในทวีปเอเชีย แปซิฟิค เวียดนาม ยังคงเป็นประเทศที่น่าจับตามองด้วยระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 106 ในครึ่งปีแรกในปี 2549 ไปสู่116 ของครึ่งปีหลังในปีเดียวกัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 118 ในครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 5 ของโลกที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากที่สุด ควบคู่มากับฮ่องกงด้วยความเชื่อมั่นในระดับเดียวกัน ( 118) โดยเพิ่มจาก 111 จากการสำรวจในรอบที่ผ่านมา

พบผู้บริโภคชาวไทยมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสในด้านการงานและไม่เชื่อมั่นในสถานภาพทางด้านการเงิน

ผู้บริโภคชาวไทยถูกจัดอยู่ในสิบประเทศแรกที่มีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสในด้านการงาน โดยแสดงให้เห็นจากอัตราความกังวลที่เพิ่มมากของผู้บริโภคชาวไทยที่ แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า “ไม่ค่อยดี” และ “ไม่ดี” เพิ่มขึ้นจาก 44% จากการสำรวจในเดือนตุลาคม ปี 2549 เป็น 66% จากการสำรวจครั้งล่าสุด นอกจากนี้ยังพบว่าเกือบครึ่งของผู้บริโภคชาวไทย (45%) มีความกังวลในด้านสถานะทางการเงินของตนในปีหน้า โดยเพิ่มขึ้นจาก 30% จากการสำรวจในรอบหกเดือนที่ผ่านมา

ชาวไทยครองแชมป์การออมมากที่สุดในโลก

ผู้บริโภคชาวไทยเพียง 35% เชื่อว่าขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการซื้อสินค้าที่ตนต้องการในอีก 12 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยยังคงติดในลำดับแรกของโลกเป็นครั้งที่สามติดต่อกันที่มีจำนวนนักออมมากที่สุดในโลกถึง 67% ที่มีความประสงค์จะเก็บเงินในส่วนที่เหลือเพื่อเก็บออมหลังจากใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

นางจันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ เอซีนีลเส็น (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ สาเหตุที่ผู้บริโภคมีความต้องการที่จะออมเงินมากในภาวะนี้ อาจจะอธิบายได้จากความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสในด้านการงาน ความกังวลในด้านสถานะทางการเงินของตนในปีหน้า รวมทั้งความคิดที่ว่าเวลานี้อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมกับการจับจ่ายใช้สอย ”

นอกจากความตั้งใจที่จะออมเงินแล้ว การใช้จ่ายทางด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ ยังคงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยมในการใช้จ่าย (50%) มาก รองลงมาคือ สินค้าทางด้านเทคโนโลยี่ (38%) การปรับปรุงบ้าน (32%) และความต้องการซื้อเสื้อผ้าใหม่ (31%) ตามลำดับ

ผู้บริโภคชาวไทยติดอยู่ในสิบประเทศแรกของโลกเมื่อพิจารณาถึงความวิตกกังวลทางด้านเศรษฐกิจ(59%), การเมือง ( 46%)และ ผู้ก่อการร้าย( 19%). โดยชาวไทยจำนวนมากที่สุดในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิคกังวลมากกับ สถานการณ์ผู้ก่อการร้าย โดยพบความกังวลเพิ่มขึ้นถึงหกเปอร์เซ็นต์จากการสำรรวจรอบที่ผ่านมา

ผู้บริโภคทั่วโลกตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อน

นอกจากความกังวลทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และความมั่นคงทางด้านงาน ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญมาก โดยเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของความกังวลของผู้บริโภคจากทั่วโลกจาก 7% จากการสำรวจในรอบที่ผ่านมาเป็น16% ในรอบนี้ โดยผู้บริโภคชาวไทยก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกันโดยเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 18%

นางจันทิรา กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากการเผยแพร่ทางสื่อเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหานี้ เรื่องที่น่ายินดีก็คือ ผู้บริโภคชาวไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยมีจำนวนผู้ที่ตระหนักถึงปัญหานี้สูงกว่าระดับเฉลี่ยของเอเชีย แปซิฟิคที่ 14 และระดับเฉลี่ยของโลกที่ 16”

ส่วนผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศในแถบยุโรป ส่วนประเทศในแถบเอเชีย แปซิฟิค ได้แก่ เกาลีใต้(50) ญี่ปุ่น(68) และไต้หวัน (68) ที่มีความเชื่อมั่นในระดับที่ต่ำ จากการสำรวจทั่วโลกพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ใน โปรตุเกศ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮังการี ค่อนข้างที่จะไม่มีความเชื่อมั่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดงาน สถานะทางการเงินของพวกเขา หรือความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอย ชาวยุโรบและชาวอเมริกาเหนือ คือคนกลุ่มแรกที่ยอมรับว่าพวกเขาไม่มีเงินเหลือเก็บที่จะใช้จ่ายในสิ่งอื่นที่ต้องการเลย

เกี่ยวกับการสำรวจ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นและความคิดเห็นออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วโลกของเอซีนีลเส็น จัดทำขึ้นสองครั้งต่อปี โดยมีจุดมุ่งหมายในการสำรวจระดับความเชื่อมั่น, พฤติกรรม/แนวโน้มการใช้จ่าย ปัจจัยกังวลของผู้บริโภคทั่วโลก ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกประเมินจาก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับตลาดงาน สถานภาพทางการเงิน และความพร้อมในการใช้จ่าย การสำรวจครั้งล่าสุดถูกจัดทำขึ้นประมาณปลายเดือนเมษายนปี 2550 จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 26,486 คน ใน 47 ประเทศ จากทวีปยุโรป เอเชียแปซิฟิค อเมริกาเหนือ และ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง

เกี่ยวกับนีลเส็น

บริษัทนีลเส็น จำกัด เป็นบริษัทเกี่ยวกับสื่อและข้อมูลทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในแวดวงการตลาดเป็นอย่างดีอาทิ “เอซีนีลเส็น” ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางการตลาด , “นีลเส็นมีเดีย รีเสริช” ให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางสื่อ “BASES” ให้บริการเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ( New product launch ) , สิ่งพิมพ์ทางธุรกิจอาทิ Billboard, The Hollywood Reporter และ Adweek รวมถึง Trade show และส่วนงานหนังสือพิมพ์ ( Scarborough ) โดยเป็นบริษัทเอกชนที่เปิดดำเนินการมากกว่า 100 ประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Haalem เนเธอร์แลนด์ และ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nielsen.com

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

The Nielsen Company

ACNielsen ( Thailand ) Ltd.

26/F United Center, 323 Silom Rd,Bangkok 10500

www.nielsen.com

นิจวรรณ คูหา ( นิกกี้ )

Email: [email protected]

Tel:02-231-1932 ext.132 or 089-772-770