กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กทม.
น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ในฐานะโฆษกสภากทม. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.46 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสภากทม. ได้มีการประชุมสภากทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ.2546 ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ตลาด พ.ศ.. ในวาระที่สอง และวาระที่สาม
โฆษกสภากทม. กล่าวว่า สำหรับสาระของร่างข้อบัญญัติฉบับนี้ ระบุว่า เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง สุขลักษณะ การจัดสถานที่ การวางสิ่งของและการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการตลาด หลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งตลาดปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยภายในตลาดให้ถูกต้องตามสุขลักษณะและอนามัย การจัดให้มีที่รวบรวมหรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย การระบายน้ำทิ้ง การระบายอากาศ การจัดให้มีการป้องกันมิให้เกิดเหตุรำคาญ การป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเพื่อให้ผู้ขายของและผู้ช่วยขายของในตลาดปฏิบัติให้ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดบริเวณที่ขายของ สุขลักษณะส่วนบุคคล สุขลักษณะในการใช้กรรมวิธีการจำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุง เก็บ หรือสะสมอาหารหรือสินค้าอื่น การรักษาความสะอาดของภาชนะ น้ำใช้ และของใช้ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการขายของในตลาด ดูแล ควบคุม ความปลอดภัยของอาหารที่จำหน่ายในตลาดเพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการขออนุญาตเปลี่ยนแปลง ขยายหรือลดเนื้อที่บริเวณที่ใช้เป็นตลาด ตลอดจนการกำหนดเวลาเปิดและปิดตลาด และการจัดตั้งคณะกรรมการตลาด เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตลาด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมาตรา 35 มาตรา 37 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการ สาธารณสุข พ.ศ.2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 บัญญัติให้ตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
อย่างไรก็ตามในรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ทางคณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตว่า อัตราพื้นที่จอดรถ 1 คัน ต่อพื้นที่อาคาร 120 ตร.ม. สำหรับอาคารประเภทตลาดตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 นั้น เมื่อคำนวณเป็นพื้นที่จอดรถ รวมทั้งหมดของอาคารตลาดทั้งหลังแล้ว จะเห็นได้ว่าน้อยไป ไม่เหมาะสมกับจำนวนรถที่จะเข้าไปใช้บริการในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ประกอบกับขณะนี้มีการจดทะเบียนรถเพิ่มมากขึ้นทุกปี คณะกรรมการวิสามัญฯ จึงเห็นว่าสมควรที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะได้พิจารณาเสนอแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยให้เพิ่มพื้นที่จอดรถสำหรับอาคารประเภทตลาดต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ตลาด พ.ศ..ในวาระที่สอง และวาระที่สาม โดยจะนำเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาลงนามประกาศใช้ต่อไป--จบ--
-นห-