กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--กทม.
น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย.46 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภากทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 7) ประจำปี พ.ศ.2546 ซึ่งที่ประชุมฯ ได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 ในวาระที่สอง และวาระที่สาม โดยคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ได้นำผลสรุปการพิจารณางบประมาณปี 2547 รายงานต่อที่ประชุมสภากทม. ทั้งนี้ในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติดดังกล่าว คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณา เริ่มจากชื่อร่างข้อบัญญัติ หลักการ เหตุผล คำปรารภ ตัวร่างข้อบัญญัติ เรียงตามลำดับแล้วจึงพิจารณางบประมาณรายจ่ายจนจบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณา
โฆษกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2547 ยังได้ตั้งข้อสังเกตในแต่ละสำนักและสำนักงานเขต ดังนี้ สำนักการคลัง และสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร อาทิ หน่วยงานควรดำเนินการตามนโยบายการเช่าคุรุภัณฑ์แทนการจัดซื้อใหม่ซึ่งจะคุ้มประโยชน์กว่า เช่น การเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร การเสนอเหตุผลความจำเป็นเพื่อเสนอของบประมาณบางรายการ เช่น รถยนต์ ไม่ควรพิจารณาหลักการทดแทนของเดิม แต่ควรพิจารณาจากความเหมาะสมของสถานการณ์ปัจจุบันว่ามีความจำเป็นมากน้อย เพียงใด, ควรเร่งรัดการใช้งบประมาณให้สามารถดำเนินการทันภายในปีงบประมาณนั้น รวมทั้งกำหนดแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้เงินอย่างชัดเจน หากเริ่มดำเนินการในช่วงกลางปีถึงสิ้นปีงบประมาณควรเสนอของบกลางปีหรืองบประมาณเหลือจ่ายทดแทนการเสนอของบประมาณประจำปี เป็นต้น สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย การก่อหนี้ผูกพันหมวดคุรุภัณฑ์ ที่ดินสิ่งก่อสร้างยังมีความล่าช้าใกล้สิ้นปีงบประมาณหน่วยงานยังไม่สามารถก่อหนี้ผู้พันได้, บางโครงการไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีอุปสรรคเรื่องการทำงานยังไม่เป็นระบบ ควรมีการประสานงานระหว่างหน่วยงาน สำนักการศึกษา อาทิ การก่อสร้างอาคารเรียนแบบมาตรฐานทุกอาคาร ควรคำนึงถึงพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องน้ำท่วมและยกระดับพื้นให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วม, ควรสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาคน(ครูและนักเรียน) และการพัฒนาการเรียนการสอนไปพร้อมๆกับการพัฒนาทางด้านวัตถุด้วย, ควรให้สำนักการศึกษาเขียนโครงการเกี่ยวกับ E- LEARNING เสนอของบประมาณเพื่อการดำเนินการเชิงรุกไปพร้อมกับรัฐบาล, ควรจัดการเรียนการสอนถึงมัธยมปลาย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2547 อย่างน้อยเขตละ 1 โรงเรียน เป็นต้น สำนักการระบายน้ำ อาทิ การก่อสร้างเขื่อนโครงการทำให้ทัศนียภาพของคลองเสียไป เช่น คลองจั่นและคลองพระยาสุเรนทร์ จึงควรหาวิธีการระบายน้ำวิธีอื่นแทนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต, กรุงเทพมหานครควรบังคับใช้กฏหมายกับผู้รุกล้ำคูคลองและผู้ทิ้งขยะลงคลองอย่างจริงจัง, บริเวณที่ก่อสร้างเขื่อนหลายโครงการยังมีการรุกล้ำ สำนักการระบายน้ำควรประสานงานกับสำนักงานเขตให้ดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน เช่น ให้ผู้รุกล้ำลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองว่าจะรื้อย้ายออกจากบริเวณที่รุกล้ำเมื่อถึงเวลาก่อสร้าง และควรมีการประสานงานกับสำนักผังเมืองและสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร ในบางโครงการที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น
สำนักรักษาความสะอาด อาทิ โครงการกำจัดมูลฝอยของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีเก็บขนและนำไป ฝังกลบ ซึ่งในอนาคตจะหาพื้นที่ในการฝังกลบได้ยากและมีปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ขยะประเภทโฟมและพลาสติกต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนาน ในอนาคตกรุงเทพมหานครควรเปลี่ยนวิธีกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เตาเผาขยะ ซึ่งเป็นการลงทุนสูง แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้ระยะยาว, การดำเนินโครงการจ้างเหมาเอกชนทำความสะอาดถนนและสิ่งก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร อาจเกิดการทำงานซ้ำซ้อนกับการปฏิบัติงานด้านการรักษาความสะอาดของเจ้าหน้าที่ของสำนักและสำนักงานเขต เป็นต้น
สำนักสวัสดิการสังคม อาทิ สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ควรก่อสร้างอาคารสำนักงานของสวนสาธารณะทุกแห่งให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม, ควรปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนให้มีลักษณะเป็นสวนสาธารณะเช่นเดียวกันสวนสาธารณะในต่างประเทศมิใช่รูปแบบที่มีทั้งเวทีและลานกีฬาประเภทต่างๆ รวมอยู่ด้วยกัน, ในการก่อสร้างอาคารสงเคราะห์ของกรุงเทพมหานคร ควรมีการกำกับดูแลผู้รับจ้างในการก่อสร้างอาคารอย่างละเอียดรอบคอบ เช่น การถมดินให้ได้มาตรฐานก่อนดำเนินการก่อสร้าง เพื่อป้องกันปัญหาการทรุดตัวของบริเวณรอบอาคารและปัญหาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น สำนักพัฒนาชุมชน ควรมีการประเมินผลผู้จบจากศูนย์ฝึกอาชีพฯ หรือโรงเรียนฝึกอาชีพฯ ว่าได้นำวิชาความรู้ไปประกอบอาชีพแล้วประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด และควรมีนโยบายในการกำหนดจุดรับบริจาคสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วจากประชาชน เพื่อนำมาใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนของศูนย์ฝึกอาชีพหรือโรงเรียนฝึกอาชีพฯ
สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักผังเมือง อาทิ การพิจารณางบประมาณของสำนักขนาดใหญ่ขอให้หน่วยงานเตรียมการ PRESENT รายละเอียดรายการงบประมาณหมวดค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง ด้วย POWER POINT เพื่อให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นและประหยัดเวลาในการพิจารณา, การติดตั้งป้ายเครื่องหมายจราจรให้พิจารณากำหนดจุดติดตั้งที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เป็นต้น สำนักงานเขต อาทิ การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี ควรมีการพิจารณาและตรวจสอบให้ถูกต้อง เพื่อมิให้เกิดการซ้ำซ้อน, ควรเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาเขตชั้นนอกให้มากขึ้น, กรณีทำประชาพิจารณ์ในบริเวณที่จะปรับปรุง-ก่อสร้าง ควรได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาเกินร้อยละ 50 (พิจารณาจากจำนวนบ้านพักอาศัยในบริเวณที่จะปรับปรุง) จึงเหมาะสมในการดำเนินการ, ถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขต ควรให้เขตเป็นผู้กำหนดระดับก้นท่อ และขนาดของท่อระบายน้ำเอง เป็นต้น
สำหรับการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2547 ที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป พร้อมดำเนินการส่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อลงนามประกาศใช้ต่อไป--จบ--
-นห-