กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--กทม.
คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของคนในกรุงเทพมหานคร รายงานผลต่อสภากทม. พบปัญหาป้ายที่ไม่มั่นคงแข็งแรงส่วนใหญ่มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้านผู้ว่าฯกทม.เผยหากพบว่าข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด
น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค.46 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 4 ) พ.ศ.2546 โดยนายสุธา นิติภานนท์ ส.ก.เขตภาษีเจริญ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของคนในกรุงเทพมหานคร ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า จากการตรวจสอบป้ายโฆษณาในเขตกรุงเทพฯ สรุปได้ว่า ปัจจุบันมีป้ายขนาดใหญ่ 1,081 ป้าย แยกเป็นป้ายที่ไม่มั่นคงแข็งแรง 347 ป้าย ในจำนวนนี้ป้ายได้รับอนุญาต 28 ป้าย และป้ายไม่ได้รับอนุญาต 319 ป้าย, สำหรับป้ายที่แข็งแรง มีป้ายที่ได้รับอนุญาตและสร้างอย่างถูกต้อง 130 ป้าย ได้รับอนุญาตแต่สร้างผิดกฎหมาย 36 ป้าย ไม่ได้รับอนุญาตและสร้างผิดกฎหมาย 345 ป้าย
โฆษกสภากทม.กล่าวต่อว่า การรายงานล่าสุดจากสำนักงานเขต 50 เขต ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2546 สำนักงานเขตได้ดำเนินการรื้อถอนป้ายออก 46 ป้าย, มีป้ายที่ออกคำสั่งให้รื้อถอนแล้ว 100 ป้าย, ป้ายที่อยู่ระหว่างออกคำสั่งรื้อถอน 100 ป้าย, ป้ายที่อยู่ระหว่างออกคำสั่งอื่น อาทิ สั่งระงับการก่อสร้างและให้ยื่นขออนุญาตแก้ไข 253 ป้าย, อยู่ระหว่างหาเจ้าของ 325 ป้าย, อยู่ระหว่างการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง 61 ป้าย และป้ายที่ไม่รายงานผลการดำเนินการ 101 ป้ายทั้งนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครหลายท่าน ได้ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาป้ายว่า ป้ายที่ไม่มีความมั่นคงแข็งแรงส่วนใหญ่พบในพื้นที่เขตบางนา เขตดินแดงในซอยหมอเหล็ง เขตราชเทวี เป็นต้น ซึ่งกทม.ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเข็มงวดมากกว่านี้ และควรมีการรายงานผลการดำเนินคดีให้ประชาชนทราบ
ด้านนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องป้ายโฆษณา เป็นเรื่องที่มีกลุ่มอิทธิพล หรือ มาเฟียเข้ามาเกี่ยวของ ซึ่งตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว และจะต้องมีการแก้ไขกำจัดกลุ่มมาเฟียนี้ให้หมดไป สำหรับรายงานผลการแก้ไขปัญหาเรื่องป้ายนั้น ที่แก้ไขได้ส่วนใหญ่เป็นป้ายที่ตั้งอยู่ในที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือที่ของทางราชการ ส่วนป้ายโฆษณาที่ก่อสร้างหรือติดตั้งในพื้นที่เอกชนยังคงมีปัญหา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจาก พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 39 ทวิ เอื้ออำนวยให้มีการก่อสร้างได้ในขอบเขตที่ขออนุญาตโดยไม่ต้องรอใบอนุญาตจากสำนักงานเขต ทำให้เกิดปัญหาการก่อสร้างป้ายไม่มั่นคงแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ตนจะนำรายงานเรื่องป้ายนี้ไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไข ป้ายใดที่ไม่มีเจ้าของให้ดำเนินการตรวจสอบหาเจ้าของ หรือป้ายที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องก็ให้ดำเนินการเอาผิดกับเจ้าของ หากพบว่าเขตใดไม่ดำเนินการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ก็จะพิจารณาลงโทษต่อไป--จบ--
-นห-