กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กทม.
น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ห้องประชุมสภากทม. วานนี้ (30 เม.ย.46) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2546 ที่ประชุมฯได้พิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ…
น.ส.อรอนงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ… ได้ศึกษาถึงเหตุผลความจำเป็นในการขึ้นค่าธรรมเนียมการเก็บขนมูลฝอย และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ตลอดจนพิจารณาโครงการต่าง ๆ ของสำนักรักษาความสะอาดที่จะดำเนินการโดยเฉพาะโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการเก็บขนมูลฝอย เป็นต้น รวมทั้งได้พิจารณา รายละเอียดของร่างข้อบัญญัติฯ ซึ่งการพิจารณานั้นคณะกรรมการฯ ได้คำนึงถึงประโยชน์ของกรุงเทพมหานคร และประโยชน์ที่ประชาชนพึงจะได้รับเป็นสำคัญ
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่าสภากทม.ควรรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าว โดยมีเหตุผลดังนี้
1.เนื่องจากขณะนี้ได้มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยใหม่ตามกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ…2545 ออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำจากเดิมที่เคยกำหนดค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยทั่วไป สำหรับที่มีปริมาณมูลฝอยวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร ในอัตราเดือนละ 4 บาท เพิ่มเป็นเดือนละ 40 บาท ประกอบกับกรุงเทพมหานครใช้อัตราค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยในอัตราเดิมตามข้อบัญญัติ เรื่อง การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูลและสิ่งเปรอะเปื้อน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ โดยเก็บจากอาคารหรือเคหะที่มีปริมาณมูลฝอยวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร ในอัตราเดือนละ 4 บาท ซึ่งใช้มาประมาณ 25 ปีแล้ว และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นก็ได้มีการขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยแล้ว จึงเห็นสมควรขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอย
2.เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดมูลฝอย เนื่องจากกรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยระหว่างปี 2538-2543 เฉลี่ยปีละประมาณ 1,856 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บขนมูลฝอยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,352 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการกำจัดมูลฝอยเฉลี่ยปีละประมาณ 504 ล้านบาท ในขณะที่กรุงเทพมหานครเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยระหว่างปี 2538-2543 ได้เป็นเงินเฉลี่ยปีละประมาณ 61 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 3.3 % ของค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดมูลฝอย ซึ่งจากการขาดความสมดุลในด้านรายรับและรายจ่ายในส่วนนี้ทำให้กรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายโดยใช้เงินรายได้ส่วนอื่นมาชดเชยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,795 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2544 กรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บขนมูลฝอยประมาณ 1,721 ล้านบาท และค่ากำจัดมูลฝอยประมาณ 970 ล้านบาท ในขณะที่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยได้ประมาณ 107 ล้านบาท ทำให้ต้องนำรายได้ส่วนอื่นมาชดเชย ประมาณ 2,584 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี
3.การขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนลดการผลิตมูลฝอยให้เหลือน้อยที่สุด และมีการแยก มูลฝอยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณมูลฝอยที่กรุงเทพมหานครต้องเก็บขนและกำจัดลดลง ทำให้กรุงเทพมหานครสามารถประหยัดงบประมาณในการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยและนำงบประมาณในส่วนนี้มาช่วยพัฒนางานด้านอื่นของกรุงเทพมหานคร เช่น ด้าน สวัสดิการสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
4. เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บมูลฝอย โดยจะมีการนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นค่าตอบแทนแก่พนักงานเก็บขนมูลฝอยเพื่อเป็นการจูงใจให้ทำงานเป็นพิเศษหรือทำงานมากกว่าปกติทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาการเก็บเงินนอกระบบที่ประชาชนเคยจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยกรุงเทพมหานครจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงว่า เมื่อมีการขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยแล้วกรุงเทพมหานครจะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ ประชาชนจึงมีหน้าที่จ่ายเงินค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยเฉพาะที่มีการออกใบเสร็จรับเงินให้ เท่านั้น และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่าสินน้ำใจให้แก่เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
น.ส.อรอนงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้มีการตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะ อาทิ กรุงเทพมหานครควรลดค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยโดยการรณรงค์หรือออกประกาศให้ประชาชนเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการลดและแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด เช่น นำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ หรือแยกมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือถ้าลดปริมาณขยะได้ 50% ก็จะได้รับถุงบรรจุมูลฝอย เป็นการตอบแทน เป็นต้น หากกรุงเทพมหานครลดปริมาณมูลฝอยได้ 50% จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยในปีงบประมาณ 2544 ได้ประมาณ 1,345.5 ล้านบาท , เพิ่มประสิทธิภาพในด้านการให้บริการเก็บขนมูลฝอยอย่างสม่ำเสมอ ตรงต่อเวลา ขยะไม่ตกค้าง ไม่สร้างเหตุรำคาญแก่ประชาชนและคำนึงถึงความพอใจของประชาชน , เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือนที่ต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครต้องให้การสนับสนุนสำนักรักษาความสะอาดและสำนักงานเขตในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอย , ควรขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยทั่วไป สำหรับที่มีปริมาณมูลฝอยวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร เป็นอัตราเดือนละ 40 บาท เพียงอัตราเดียว , มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการเก็บเงินนอกระบบ และมาตรการในการลงโทษเจ้าหน้าที่ในกรณีที่มีการ ฝ่าฝืนเรียกเก็บเงินนอกระบบ , อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะร้องเรียนกรณีที่ยังคงมีการเรียกเก็บเงินนอกระบบอยู่ เช่น ให้สามารถร้องเรียนผ่านเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตได้ เป็นต้น, มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงว่ากรุงเทพมหานครได้มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ ประชาชนจึงมีหน้าที่จ่ายเงินค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยเฉพาะที่มีการออกใบเสร็จรับเงินให้เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสินน้ำใจให้แก่เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด, ประชาสัมพันธ์โครงการต่าง ๆ ที่สำนักรักษาความสะอาดจะดำเนินการ เช่น โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการเก็บขนมูลฝอย โครงการลดปริมาณขยะตลอดจนมาตรการในการ ลงโทษเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ให้มีการประเมินประสิทธิภาพในการให้บริการเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขตต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาให้ความดีความชอบ เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบพร้อมตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมา จำนวน 17 คน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร 8 คน และสภากรุงเทพมหานคร 9 คน เพื่อพิจารณาในรายละเอียดของร่างฯ ก่อนนำเข้าที่ประชุมสภากทม.ในวาระ 2-3 ต่อไป--จบ--
-นห-