กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--คอร์ปอเรท พับลิค รีเลชั่น คอนซัลแตนท์
เผยผลสำรวจ คนไทย 1 ใน 4 ไม่รู้พิษภัยโรคกระดูกพรุนว่าทำให้ถึงตายหรือพิการ มูลนิธิโรคกระดูกพรุนผนึกกำลังแพทย์เพื่อประชาชน รณรงค์ให้ความรู้ช่วยหญิงไทยสู้ภัยกระดูกพรุน ก่อนปัญหาสาธารณสุขชาติจะรุนแรงกว่านี้
น.พ.สุทร บวรรัตนเวช รองประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออโธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อุบัติการณ์โรคกระดูกพรุนกำลังคุกคามหญิงวัยทองทั่วโลกไม่เว้นแม้หญิงวัยทองในประเทศไทย ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยฯ ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคนี้ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของชาติที่รุนแรงมากขึ้น จึงเร่งสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนในคนไทยทั่วประเทศร่วมกับโครงการแพทยย์เพื่อประชาชน และเร่งรณรงค์ให้ข้อมูลข่าวสารแก่คนไทยโดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดของโรคกระดูกพรุน
การสำรวจทำในกลุ่มตัวอย่าง 1,029 คน แบ่งเป็นหญิงวัยทองร้อยละ 80.1 ผู้ชาย ร้อยละ 19.9 ครอบคลุมประชากรใน 22 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม ราชบุรี อยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ ลำพูน เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย สุพรรณบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ เลย และสงขลา
ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 10 ไม่เคยได้ยินเรื่องโรคกระดูกพรุน ร้อยละ 12 ไม่ทราบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสกระดูกหักได้ง่ายโดยเฉพาะกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลัง ร้อยละ 13.3 ไม่ทราบว่าถ้ากระดูกสะโพกหักแล้วจะมีโอกาสหักซ้ำอีก และร้อยละ 13.3 ไม่สนใจรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้
ในเรื่องของความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม ร้อยละ 47.6 ไม่ทราบว่าถ้าญาติสายตรงป่วยเป็นโรคนี้ บุตรหลานจะมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าบุคคลทั่วไป
อย่างไรก็ตามผลสำรวจซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงวัยทอง ร้อยละ 80.1 พบข้อมูลในเชิงบวกว่า ผู้หญิงใน กทม. ภาคเหนือ และภาคใต้ มีความรับรู้ในเรื่องโรคกระดูกพรุนสูงในอัตราไล่เลี่ยกัน คือ ร้อยละ 91.7 91.3 และ 91.1 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 87 ภาคกลาง ร้อยละ 81.4 สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่มีการรับรู้เรื่องโรคกระดูกพรุนต่ำสุดคือผู้หญิงในภาคตะวันออก ร้อยละ 67.6
น.พ. สุทร กล่าวเพิ่มเติมว่าผลการสำรวจนี้ เกิดจากการสอบถามกลุ่มเป้าหมายที่เดิน ห้างสรรพสินค้า โดยเจาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูงสุดคือผู้หญิงที่อายุ 50 ปีขึ้นไป 34.7% รองลงมาคือกลุ่มอายุ 46-50 ปี 18.6% กลุ่มอายุ 41-45 ปี 15.9% ส่วนกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 30.6 และผู้ชายร้อยละ 19.9
"ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นคนในเมือง และมีการศึกษา คือ ปริญญาตรี 47.% และระดับ ต่ำกว่าปริญญาตรี 33.7 % ถ้า 1 ใน 4 ของผู้ที่มีการศึกษาระดับนี้ยังไม่ทราบถึงอันตรายของโรคกระดูกพรุน จึงน่าเป็นห่วงประชาชนทั่วไปซึ่งมีการศึกษาน้อยกว่านี้ และอยู่ห่างไกลข้อมูลข่าวสาร และในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แปลว่าสถานการณ์โรคกระดูกพรุนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะเมื่ออายุ 65 ปี ขึ้นไป พบอัตราการเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ 60 ในขณะที่ในหญิงวัย 55 ปี พบเพียง ร้อยละ 20"
เพื่อบรรเทาความรุนแรงของปัญหา และรับมืออุบัติการณ์ของโรคซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามอัตราการเพิ่มของผู้สูงอายุ มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ฯ จึงร่วมกับ โครงการแพทย์เพื่อประชาชนจัดกิจกรรมรณรงค์ "ช่วยหญิงไทยสู้ภัยกระดูกพรุน" ขึ้น ในรูปแบบของความรู้ผสานความบันเทิง พร้อมทั้งการ ตรวจสุขภาพ การตรวจวัดมวลกระดูก การให้คำแนะนำทางด้านโภชนาการ เป็นเวลา 3 เดือน ในบิ๊กซี 16 สาขา
ส่วนการรณรงค์ให้ข้อมูลข่าวสารในระยะยาว ทำโดย จัดมุมสุขภาพในบิ๊กซีทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณจากผลิตภัณฑ์แอนลีน และ การสนับสนุนพื้นที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะช่วยให้คนไทยโดยเฉพาะหญิงวัยทองมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง กระตุ้นเตือนให้เกิดพฤติกรรมในการสร้างเสริมซึ่งจะช่วยลด และชะลอความรุนแรงของโรค รวมทั้งประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศชาติได้เป็นจำนวนมาก" น.พ. สุทร กล่าวในที่สุด
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท คอร์ปอเรท พับลิค รีเลชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด
111/76 ถนนสุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทร. (02)668-7995-6, (02)668-8886#1077, (02)628-6000 กด 1 แฟกซ์ (02)668-7996
website : www.cpr-thai.com E-mail :
[email protected] จบ--
-พส/นห-