กรุงเทพ--28 เม.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
ประเทศไทยได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงนโยบายและเศรษฐกิจระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค เพื่อการนำวัคซีนใหม่มาใช้ครั้งแรก
เมื่อวานนี้เวลา 9.00 น ณ โรงแรมอมารี รินคำ เชียงใหม่ นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงนโยบายและเศรษฐกิจระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค เพื่อการนำวัคซีนใหม่มาใช้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 27 - 29 เมษายนนี้ ประกอบด้วย สมาชิดองค์การอนามัยโลก 2 ภูมิภาคในเอเชียจำนวน 13 ประเทศ และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาค ยูนิเซฟ ธนาคารโลก ยูเอ็นเอดส์ และบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ทั้งสิ้นประมาณ 90 คน
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรก ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวัคซีนนานาชาติ, โครงการพัฒนาวัคซีนเพื่อเด็ก องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย สมาคมอุตสาหกรรมเภสัชกรรมนานาชาติ และกระทรวงสาธารณสุขไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการที่จะพัฒนาวัคซีนใหม่ ๆ เข้าสู่โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศที่กำลังพัฒนา และการปรับปรุงนโยบายวัคซีนระดับชาติของประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ด้วยการพิจารณาข้อมูลที่จำเป็นประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ยังหาวิธีการส่งเสริมการจัดหาและสนับสนุนวัคซีนที่มีใช้อยู่ในประเทศแถบนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการสาธารณสุขและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการ
โรคติดเชื้อได้คร่าชีวิตเด็กอยู่ต่ำกว่า 14 ปี ไปปีละกว่า 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 67 เสียชีวิต ด้วยโรคติดเชี้ออื่นทั่วไป ร้อยละ 33 เสียชีวิต ด้วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ปัจจุบันวัคซีนพื้นฐานที่รัฐจัดให้บริการฟรีแก่เด็ก ตามโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คือ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ และหัด เพราะวัคซีนเหล่านี้มีราคาต่ำ ในขณะนี้วัคซีนอีกหลายตัว เช่น หัดเยอรมัน คางทุม เฮปปาไตตีบี ฯลฯ มีราคาค่อนข้างแพง
สถาบันวัคซีนนานาชาติ
ซึ่งมีบทบาทในการบริหารจัดการให้การผลิตวัคซีนและปรับปรุงผลิตวัคซีนให้ได้มาตรฐาน ด้วยความร่วมมือกับประเทศไทยได้ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการวัคซีนในแง่เศรษฐกิจและนโยบายในการทำวัคซีนตัวใหม่มาใช้เพื่อต่อสู้กับโรคในประเทศที่กำลังพัฒนา และจะมีการทำผลการศึกษามาเสนอในที่ประชุมนี้ด้วย
สำหรับโครงการพัฒนาวัคซีนเพื่อเด็ก ได้เริ่มดำเนินการมาประมาณ 2 - 3 ปีแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ องค์การยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ด้วยการดำเนินงานผลักดันให้มีการพัฒนาวัคซีนใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
รมว.สธ. กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมครั้งนี้มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ ตนมั่นใจว่าความพยายามร่วมกับระหว่างนานาชาติในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งมาตรการที่เหมาะสมในการพิจารณานำวัคซีนใหม่ ๆ มาใช้ รวมทั้งสามารถประเมินทางเลือกที่เหมาะสมในการนำมาตรการสนับสนุนด้วยการเงินและแก่ระบบบริการสาธารณสุข เปิดโอกาสคนยากจนได้รับบริการสาธารณสุขที่ดีตามความจำเป็นด้วย--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit