สศช.จัดสัมมนา "ร่วมสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทย สู่ พ.ศ. 2560"

04 Aug 1997

กรุงเทพ--4 ส.ค.--สศช.

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับมูลนิธิเด็ก มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ภาคีความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาข่ายความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ร่วมสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทย สู่ พ.ศ. 2560" ระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 1 มิ.ย. 40 ณ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว จ.กาญจนบุรี

ในช่วงเช้าของการสัมมนา นางวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากความริเริ่มของคณะกรรมการบริหาร สศช.ที่เห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในระยะยาวที่เกิดจากการร่วมกันคิดร่วมกันทำ เช่นเดียวกันกับการจัดทำแผนฯ 8 อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯได้เคยให้มูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดทำเรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทยปี ค.ศ. 2020" มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากระยะเวลาจำกัดจึงไม่ได้มีการระดมความคิดเห็นดังกล่าว ดังนั้น สำนักงานฯ จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น ในลักษณะร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อให้เกิดมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของวิสัยทัศน์นี้ร่วมกัน

ต่อจากนั้น ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดสัมมนาและให้ข้อคิดเห็นว่า นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะร่วมกันสรรค์สร้างวิสัยทัศน์ เพื่อจุดประกายแห่งความหวังร่วมกันในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง เพราะโดยธรรมชาติคนจะเกิดความคิดหรือหาทางรวมตัวกันเมื่อประสบภาวะความยากลำบาก แต่ประการสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยในอนาคตเดินไปในทิศทางสายกลาง เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางสายกลาง เพื่อให้การพัฒนาเป็นในทิศทางที่สมดุลยั่งยืนและประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนพื้นฐานความเป็นไทย และดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติ สมศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์

นอกจากนี้ ดร.ลิปปนนท์ เกตุทัต ยังได้กล่าวอีกว่าจะทำอย่างไรที่จะให้วิสัยทัศน์ที่พยายามสร้างนี้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายของการพัฒนา ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มคน ในขณะเดียวกันก็หาทางให้กลุ่มคนมีทางเลือกมากขึ้นในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การนับถือศาสนา และวัฒนธรรม เป็นต้น และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทำอย่างไรที่จะปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ จากวิสัยทัศน์ ที่ได้ร่วมกันสร้างมา ซึ่งในการนี้จำเป็นจะต้องสร้างระบบและกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของทุก ๆ คน

หลังจากนั้น นายธรรมรักษ์ การพิษิษฎ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สศช. ได้กล่าวบรรยายเรื่อง "ความพยายามจัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทยและประสบการณ์จากนานาประเทศในการจัดทำวิสัยทัศน์" ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า วิสัยทัศน์คือ ภาพในอนาคตขององค์กรที่ผู้นำและสมาชิกในองค์กรร่วมกันวาดฝันหรือจินตนาการขึ้น โดยมีพื้นฐานอยู่บนความจริงในปัจจุบัน เชื่อมโยงวัตถุประสงค์ภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อมั่นเข้าด้วยกัน ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ นอกจากจะช่วยสร้างพลังให้แก่องค์กรให้มีเป้าหมายอันสูงสุดเป็นจุดรวมใจที่จะทำให้คนมีความสามัคคี มีความคิดรวมเป็นอันหนี่งอันเดียวกันแล้ว วิสัยทัศน์ยังจะช่วยให้การบริหารประสบความสำเร็จดังที่ธุรกิจเอกชนได้ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เช่น บริษัท 3M, IBM จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, โซนี่ เป็นต้น

สำหรับรูปแบบการสัมมนา ที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่ออภิปรายถึงหัวข้อเรื่องต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายต่าง ๆ กัน ดังนี้

1. "ประเทศไทยผ่านร้อนผ่านหนาว มาได้อย่างไรในช่วง 30 ปี" เพื่อวิเคราะห์และรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

2. "มองกว้างไกล วิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ พ.ศ. 2560" เพื่อระดมความคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า

3. "เส้นทางสำคัญสู่วิสัยทัศน์ประเทศไทย" เพื่อให้ได้แนวทางสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา ในปีพ.ศ. 2560

4. "แนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่ทุกส่วนของสังคมเป็นเจ้าของและนำไปประยุกต์ใช้" เพื่อให้ได้มาซึ่งแผนงานหรือแนวทางการดำเนินงาน เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่เป็นที่อยมรับและเป็นที่เข้าใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า

ทั้งนี้ ในวันสุดท้ายของการสัมมนา ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เป็นผู้กล่าวปิดการสัมมนาโดยได้สรุปถึงผลการสัมมนาว่า แต่ละกลุ่มต่างมีเจตตนารมณ์ว่าควรมีการทำวิสัยทัศน์ประเทศไทยเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทุกคนมีส่วนรับรู้ และเพื่อสร้างความชัดเจนต่อไป โดยให้คิดแบบทางสายกลาง คิดต่อเนื่องกันและปรับตัวไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะต้องเน้นเรื่องวิธีคิดซึ่งยังไม่ต้องลงในรายละเอียด อันนี้จึงจะเป็นขบวนการทางปัญญา

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ให้ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้รับจากการสัมมนากลุ่มย่อย 2 ข้อ คือ

1) ลดบทบาทรัฐ เพิ่มศักดิ์ศรีและศักยภาพของมนุษย์ในการร่วมคิด ร่วมทำ ส่งเสริมความหลากหลายความเป็นเครือข่าย ความเป็นภาคี และการร่วมทุกข์ร่วมสุขและ

2) เชื่อมโยง จุดแข็งในวิธีคิดและคุณค่าในวิถีชีวิตไทยกันความเป็นสากล และยังกล่าวในตอนท้ายด้วยว่าหลังจากการสัมมนาครั้งนี้แล้ว คงจะมีเอกสารที่ดี ที่ผ่านการสังเคราะห์ซึ่งแสดงตัวสาระสำคัญที่ชัดเจน เพื่อให้มีการศึกษาต่อและขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง--จบ--