เมื่อกล่าวถึงโรคติดเชื้อจากเชื้อราส่วนใหญ่จะนึกถึงอาการคันในร่มผ้าซึ่งเกิดขึ้นภายนอกร่างกาย แต่ในความเป็นจริงโรคติดเชื้อราอาจลุกลามจนถึงขั้นต้องรักษาในโรงพยาบาล จากการติดเชื้อราในกระแสเลือดอย่างรุนแรงได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือยากดภูมิคุ้มกัน รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาล
ที่ผ่านมา การรักษาโรคติดเชื้อจากเชื้อราชนิดรุนแรงต้องใช้ยาฉีดที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ทำให้ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลไปกับค่ายา รวมทั้งค่าบริการทางการแพทย์ต่างๆซึ่งรวมถึงค่ารักษาพยาบาลในการนอนพักในโรงพยาบาลเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ
แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จากการวิจัยโดยบริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับโลกแห่งสหรัฐอเมริกา ร่วมกับนักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลก ซึ่งได้ทำการทดสอบแล้วกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงจำนวนรวมทั้งสิ้นเกือบ 200 รายใน 15 ประเทศทั่วโลกในการศึกษาระยะที่ 3 ทำให้โลกได้เข้าใกล้ความเป็นจริงที่จะได้มียาต้านเชื้อราประเภทออกฤทธิ์ยาว(Long-Acting Antifungal) ที่จะทำให้ผู้ป่วยรับยาได้น้อยลงจากที่ต้องฉีดยาทุกวัน เหลือเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยยาใหม่ที่ได้รับยังคงมีประสิทธิภาพเช่นเดิม และมีผลข้างเคียงน้อย
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เมธีชยะกุลคีรี อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลนับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะผู้แทนนักวิจัยเพียงหนึ่งเดียวจากภูมิภาคเอเชียที่ได้รับเชิญเป็นผู้ร่วมนิพนธ์ผลงานตีพิมพ์จากงานร่วมวิจัยและพัฒนายารักษาโรคติดเชื้อจากเชื้อราแคนดิไดอะซิส(Candidiasis) ในโครงการวิจัยระดับโลก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการ "Lancet" ที่อยู่ในTop 1% ของโลก
โรคติดเชื้อจากเชื้อราเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสายพันธุ์โดยขณะนี้โครงการวิจัยในระยะที่ 3 ได้สำเร็จแล้ว และคาดว่าจะสามารถพัฒนาต่อไป เพื่อเพิ่มข้อบ่งชี้ให้ผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งจะพัฒนาเพื่อให้สามารถรักษาโรคติดเชื้อจากเชื้อราได้หลากหลายชนิดมากยิ่งขึ้น
ผลความสำเร็จจากการศึกษาระยะที่ 3 จะนำไปสู่ขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนขออนุญาตต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ซึ่งคาดว่าจะทำให้สามารถใช้จริงอย่างกว้างขวางต่อไปในผู้ป่วยได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า และอาจยื่นจดทะเบียนขออนุญาตต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย เพื่อใช้จริงในผู้ป่วยชาวไทยด้วยในอนาคต
โดยยาใหม่ที่ใช้ในโครงการวิจัยฯ ได้ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยมาแล้วจากการศึกษาระยะที่ 1 และ 2 และในการศึกษาระยะที่ 3 นี้เห็นผลเป็นที่น่าพอใจในผู้ป่วยชาวไทยซึ่งการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาแบ่งกลุ่มแบบสุ่มและปกปิด "Double Blind Randomized Controlled Trial" เปรียบเทียบกับยาที่มีใช้ในปัจจุบัน จึงทำให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือในความเที่ยงตรง เนื่องจากในการทดสอบไม่อาจล่วงรู้ล่วงหน้าว่าผู้ป่วยรายใดจะได้รับยาชนิดใด แม้แต่ผู้ศึกษาเองก็ไม่อาจทราบได้
โรคติดเชื้อจากเชื้อราเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่เพียงจากเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล ยังรวมถึงการรับประทานอาหารที่อาจมีเชื้อราปนเปื้อน
ในฐานะแพทย์โรคติดเชื้อ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เมธี ชยะกุลคีรี ได้กล่าวแสดงความห่วงใยทิ้งท้ายถึงผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทั้งผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันว่า ควรหลีกเลี่ยงรับประทานผักผลไม้ที่ดิบและสด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อก่อโรคจากเชื้อราที่อาจลุกลามรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้สดชนิดเปลือกบาง นอกจากนี้อาหารที่รับประทานทุกชนิดจะต้องสะอาดและปรุงสุกอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit