นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) เปิดเผยถึงผลการจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ครั้งที่ 3/2564 (ข้อมูล ณ 22 มิถุนายน 2564) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ พบว่า ลำไยของแหล่งผลิต 8 จังหวัดหลักภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ น่าน) มีผลผลิตรวม 973,603 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 806,414 ตัน (เพิ่มขึ้น 167,189 ตัน หรือร้อยละ 21) ทั้งนี้ ผลผลิตลำไยในฤดูได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2564 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2564 ประมาณ 394,707 ตัน หรือ ร้อยละ 41 ของผลผลิตทั้งหมด
สถานการณ์การผลิตลำไย ปี 2564 พบว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย หนาวเย็นต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2563 ส่งผลให้ลำไยมีการติดดอกออกผลมาก ประกอบกับมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงออกดอกและช่วงติดผลอ่อน แม้ว่าจะมีฝนทิ้งช่วงในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2564 ส่งผลให้บางพื้นที่ต้นลำไยขาดน้ำ และสลัดลูกทิ้งบางส่วน แต่เนื่องจากการออกดอกและติดผลมีมากกว่าปีที่แล้ว ทำให้ภาพรวมผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งหากจำแนกลำไยในฤดูและนอกฤดู พบว่า ผลผลิตลำไยในฤดู มีจำนวน 683,435 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 559,854 ตัน (เพิ่มขึ้น 123,581 ตัน หรือร้อยละ 22) ซึ่งขณะนี้ มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว จำนวน 16,725 ตัน แบ่งเป็นลำไยสดช่อ จำนวน 11,474 ตัน และลำไยรูดร่วง จำนวน 5,251 ตัน ส่วนผลผลิตลำไยนอกฤดู มีจำนวน 290,168 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 246,560 ตัน (เพิ่มขึ้น 43,608 ตัน หรือร้อยละ 18)
ด้านราคาลำไยในฤดูที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 แบ่งเป็นตามเกรด ได้แก่ ลำไยสดช่อ เกรด AA กิโลกรัมละ 34 บาท , เกรด A กิโลกรัมละ 27 บาท , เกรด AA+A กิโลกรัมละ 24 บาท , เกรด B กิโลกรัมละ 16 บาท และ เกรด C กิโลกรัมละ 12 บาท ส่วนลำไยรูดร่วง เกรด AA กิโลกรัมละ 22 บาท , เกรด A กิโลกรัมละ 12 บาท , เกรด B กิโลกรัมละ 6 บาท และเกรด C กิโลกรัมละ 2 บาท สำหรับสถานการณ์ตลาดลำไยภาคเหนือ ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตลาดจีนจะเปิดการซื้อขายแล้วแต่ยังมีมาตรการตรวจคัดกรองที่เข้มงวดทั้งการตรวจโรคแมลงศัตรูพืช และการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บนบรรจุภัณฑ์สินค้า ณ ด่านนำเข้าเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการลำไยในฤดูของภาคเหนือ ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันวางแนวทางการบริหารสมดุล Demand-Supply โดยมีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการ สำหรับความต้องการผลผลิตส่วนใหญ่จะเน้นการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลำไยสกัดเข้มข้น และลำไยกระป๋อง จำนวน 438,420 ตัน บริโภคสดในประเทศ จำนวน 101,543 ตัน และส่งออกลำไยสด จำนวน 143,472 ตัน อย่างไรก็ตาม เดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวอาจส่งผลกระทบต่อราคาลำไย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาด ได้เตรียมแผนบริหารจัดการสินค้าและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจังหวัด เพื่อบริหารจัดการในช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เรียบร้อยแล้ว อาทิ การจำหน่ายลำไยเพื่อบริโภคสดในประเทศ โดยมุ่งเน้นกระจายออกนอกแหล่งผลิตผ่าน Modern Trade เครือข่ายสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ธ.ก.ส. ไปรษณีย์ และตลาดออนไลน์
ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวทิ้งท้ายว่า โอกาสนี้ ขอเชิญชวนผู้บริโภคทุกท่านร่วมสนับสนุนผลผลิตลำไยของเกษตรกร ซึ่งพร้อมออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกร ในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพต่อไป หากท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์ลำไยภาคเหนือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) โทร 0 5312 1318 หรืออีเมล [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit