วิธีง่ายๆ ป้องกันออฟฟิศซินโดรม

26 Nov 2020

ออฟฟิศ ซินโดรม ทุกคนต้องเป็นจริงหรือ ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) โรคยอดฮิตของคนทำงาน ปวดคอ ปวดบ่า ปวดกระบอกตา ปวดหัว ปวดหลัง ปวดก้น ปวดเข่า เท้าบวม ชามือ ชาขา เมื่อยบ่า เมื่อยสะบัก ฯลฯ อาการต่างๆ นานา ที่พูดมา จัดเป็นออฟฟิศซินโดรมทั้งหมด….. โรคนี้ คืออาการ หรือกลุ่มอาการใดๆ ก็ได้ ที่มาจากการทำงาน จึงเป็นที่มาของคำว่า "Office Syndrome"

วิธีง่ายๆ ป้องกันออฟฟิศซินโดรม

คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้มาให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า Office Syndrome ที่ปวดกันมากคือ ปวดคอ บ่า ไหล่ รวมไปถึงปวดกระบอกตา ปวดร้าวขึ้นหัว ปวดศีรษะ จัดเป็นกลุ่มใหญ่ ปวดหลัง ปวดก้น ร้าวลงขา เป็นกลุ่มอาการปวดที่รองลงมาเป็นอันดับสอง

ทำไมอาการเหล่านี้จึงเกิดขึ้นกับคนทำงาน
" เพราะทำงานท่าเดิมๆ ซ้ำ ๆ เหมือนกันทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมง
" เพราะไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ขยับตัว
" เพราะนั่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น นั่งไขว่ห้าง ฯลฯ
" เพราะไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ฝึกกำลังกล้ามเนื้อเฉพาะมัด ที่ต้องแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน
" เพราะมีความเครียด กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวได้มาก

เมื่อนึกถึงท่าทางการทำงาน เราจะเห็นชัดเจนว่า ภาพคนนั่งหลังโก่ง ก้มคอ คางยื่น เป็นภาพที่เห็นจนชินตา ท่าทางนี้เป็นท่าที่ร่างกายต้องใช้แรงมากกว่าปกติหลายเท่า โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ กล้ามเนื้อเหล่านี้จะมีจุดเกาะที่แนวกระดูกคอ เมื่อเกร็งมากจึงเป็นแรงกดให้หมอนรองกระดูกคอต้องแบกรับน้ำหนักไว้มากเกินถึง 3-4 เท่าตัว ไม่เพียงทำให้ปวด หรือมีอาการของออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดคอเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกเสื่อม อาจเสื่อมทับเส้นประสาทได้อีกด้วย

แล้วคนทำงานทุกคนต้องเป็นออฟฟิศซินโครมหรือ?
คำตอบคือ… ไม่เลยค่ะ หากเรามีความรู้ และเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อป้องกัน และแก้ไขไม่ให้อาการปวดนั้นเรื้อรัง เมื่อเรารู้เหตุผลแล้วว่า อะไรทำให้เราต้องมีอาการปวดเกิดขึ้น เราก็ควรป้องกัน และหากเพียงมีอาการเริ่มปวด ก็จัดการแก้ไขอาการปวดนั้นด้วยตัวเอง ก่อนที่จะเรื้อรัง และรุนแรง ก็จะทำให้เราห่างไกลจากออฟฟิศซินโดรมได้

วิธีง่ายๆ เพื่อแก้ไขอาการปวด และป้องกันออฟฟิศซินโดรม

  1. นั่งหลังตรง ดึงสะบัก ผลักไหล่ไปด้านหลัง
  2. นั่งน้ำหนักลงกลางก้น สองข้าง ให้สมดุล (ไม่นั่งไขว่ห้าง)
  3. เหยียดแขนขึ้น เปิดไหล่ ยืดอก ยกชายโครง หายใจลึกๆ
  4. ลุกขึ้นเดิน อย่าเพลินกับงานมากเกินชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ขยับ
  5. เดินไป หมุนไหล่ไปด้านหลัง ให้กล้ามเนื้อคอมีการขยับ ปรับสมดุลไปในตัว

เพราะฉะนั้นกันไว้ดีกว่าแก้ หากปล่อยให้เรื้อรังมาก ก็ยิ่งทำลายสุขภาพ มีโอกาสเป็นโรคร้าย แล้วก็เกินจะเยียวยา รักษาให้หายขาดก็จะยากขึ้น เปลืองเวลา เปลืองค่าใช้จ่าย ทำลายคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วยค่ะ

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit