นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมมากและปานกลาง (S1,S2) สำหรับการปลูกข้าว รวม 2,225,450 ไร่ และมีพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3,N) สำหรับการปลูกข้าว รวม 361,077 ไร่ หรือร้อยละ 14 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอไพศาลี หนองบัว และพยุหะคีรี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการปลูกข้าวนาปีในพื้นที่เหมาะสมและปานกลาง (S1/S2) เฉลี่ย 1,168 บาท/ไร่ ในขณะที่เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) จะได้รับผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เพียง 173 บาท/ไร่
หากพิจารณาสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อปรับเปลี่ยนนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) พบว่า มีสินค้าหลายชนิดที่ให้ผลตอบแทนดี อาทิ ข้าวโพดหวาน กล้วยหอมคาเวนดิช หรือกล้วยหอมเขียว และแตงโม โดย ข้าวโพดหวาน มีต้นทุนการผลิต 7,099 บาท/ไร่ นิยมปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม (ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 3 เดือน) ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,557 กก./ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทน 10,228 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 3,128 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 4 บาท/กก. ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 98.5 ส่งขายพ่อค้าคนกลางเพื่อรวบรวมส่งโรงงานใน จ.กาญจนบุรี (บริษัท ริเวอร์ แควอินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด) เพื่อนำไปแปรรูปเป็นข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 1.5 จำหน่ายผู้บริโภคภายในจังหวัด
สำหรับสินค้าทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนสูง คือ กล้วยหอมคาเวนดิช หรือกล้วยหอมเขียว มีต้นทุนการผลิต 16,936 บาท/ไร่ นิยมปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนธันวาคม (เริ่มให้ผลผลิตในเดือนที่ 8 และเก็บเกี่ยวได้จนถึง 3-4 ปี) ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,819 กก./ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทน 22,552 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 5,616 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 8 บาท/กก. ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 98.2 ส่งขายพ่อค้าคนกลางซึ่งมารับซื้อหน้าสวน จากนั้นพ่อค้าคนกลางจะส่งขายผลผลิตให้กับผู้รวบรวมรายใหญ่ในต่างจังหวัด เพื่อส่งจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้า อาทิ บิ๊กซี โลตัส และ 7-Eleven และผลผลิตบางส่วนส่งออกไปยังประเทศจีน ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 1.8 จำหน่ายผู้บริโภคภายในจังหวัด
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ คือ แตงโม มีต้นทุนการผลิต 9,753 บาท/ไร่ นิยมปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,633 กก./ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทน 15,804 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 6,051 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 6 บาท/กก. ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 98 ส่งขายพ่อค้าคนกลางเพื่อรวบรวมส่งตลาดไทย และตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งตลาดจะรับซื้อตามขนาดและคุณภาพของผลผลิต ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 2 จำหน่ายผู้บริโภคภายในจังหวัด นอกจากนี้ แตงโมมีความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกเพียง 655 ลบ.ม./ไร่ ในขณะที่ข้าวมีความต้องการใช้น้ำ 1,351 ลบ.ม./ไร่ ดังนั้น แตงโมจึงเป็นพืชทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ที่ใช้น้ำน้อยและใช้ระยะเวลาการปลูกสั้นเพียง 2-3 เดือน
ทั้งนี้ การเลือกพืชทางเลือกเพื่อปรับเปลี่ยนการทำนาข้าวนั้น นอกจากปัจจัยด้านผลตอบแทนแล้ว เกษตรกรควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย อาทิ ลักษณะดินของพื้นที่ ปริมาณความต้องการใช้น้ำของพืชแต่ละชนิดความต้องการของตลาด หรือมีตลาดรองรับที่แน่นอน ปัจจัยด้านเงินทุน เป็นต้น รวมถึงเกษตรกรควรมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในด้านการผลิตและการแปรรูป เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพสินค้า และเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกทางหนึ่งด้วย หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตสินค้าทางเลือกของจังหวัดนครสวรรค์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.12 โทร. 0 5680 3525 หรืออีเมล [email protected]