นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการสินค้าตามพื้นที่ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออก ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) ได้ศึกษาสินค้าทางเลือกที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดชลบุรี พบว่า “ไผ่” เป็นสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) เนื่องจากไผ่มีคุณประโยชน์เพื่อบริโภคและใช้สอยอย่างหลากหลาย สามารถจำหน่ายเป็นกิ่งพันธุ์ หน่อ ลำ และ แปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคและอาหารสัตว์ สำหรับเกษตรกรจังหวัดชลบุรีนิยมปลูกไผ่เพื่อทำกิ่งพันธุ์จำหน่าย ซึ่งสามารถให้ผลผลิตปีละประมาณ 3 ล้านกิ่งพันธุ์ สร้างมูลค่าสูงกว่า 45 ล้านบาท
หากมองถึงสถานการณ์การผลิต พบว่า จังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ปลูกไผ่ ประมาณ 700 ไร่ เกษตรกรนิยมปลูกสายพันธุ์กิมซุง ปักกิ่ง ไผ่รวกหวาน และซางหม่น เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง สามารถตัดชำกิ่งขยายพันธุ์ หน่อไม้มีรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต สร้างรายได้ตลอดทั้งปีโดยไผ่แต่ละสายพันธุ์มีต้นทุนและผลตอบแทน ดังนี้ พันธุ์กิมซุง มีต้นทุนการผลิต 35,589 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตหน่อไม้เฉลี่ย 499 กก./ไร่/ปีผลผลิตชำต้นพันธุ์ 5,717 กิ่ง/ไร่/ปี ผลตอบแทน 95,771 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 60,183 บาท/ไร่/ปี พันธุ์ปักกิ่ง ต้นทุนการผลิต 27,201 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตหน่อไม้เฉลี่ย 2,220 กก./ไร่/ปี ผลผลิตชำต้นพันธุ์เฉลี่ย 1,180 กิ่ง/ไร่/ปี ผลตอบแทน 138,402 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 111,201 บาท/ไร่/ปี พันธุ์ไผ่รวกหวาน ต้นทุนการผลิต 13,406 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตหน่อไม้ เฉลี่ย 1,470 กก./ไร่/ปี ผลผลิตชำต้นพันธุ์เฉลี่ย 1,682 กิ่ง/ไร่/ปี ผลตอบแทน 65,949 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 52,543 บาท/ไร่/ปี และพันธุ์ซางหม่น ลงทุนปีที่ 1 ต้นทุนการผลิต 9,989 บาท/ไร่ (อยู่ในช่วงเจริญเติบโต ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้) สถานการณ์ด้านตลาด เกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตเป็น 2 รูปแบบ คือ กิ่งพันธุ์ นิยมจำหน่ายช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ส่วนใหญ่ผลผลิตร้อยละ 50 (ประมาณ 1.50 ล้านกิ่งพันธุ์) ส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม รองลงมาร้อยละ 20 (ประมาณ 6 แสนกิ่งพันธุ์) ส่งขายตลาดขายต้นไม้บ้านหนองชะอม บ้านดงบัง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี รองลงมาส่งขายตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลาดภาคเหนือ และตลาดภาคใต้ ร้อยละ 15 10 และ 5 ตามลำดับ (รวมประมาณ 9 แสนกิ่งพันธุ์) ส่วนหน่อไม้สด นิยมจำหน่ายช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ส่วนใหญ่ผลิตร้อยละ 99.65 ส่งขายให้พ่อค้าที่รวบรวมในจังหวัด และผลผลิตที่เหลือเกษตรจะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ภาคตะวันออกยังมีความต้องการใช้ลำไผ่ปริมาณมากในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังมีผลผลิตไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าไผ่จากภาคอื่น ๆ หรือต่างประเทศ ปีละกว่า 6.7 ล้านลำ และมีแนวโน้มเพิ่มความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใช้เป็นไม้ค้ำยันผลไม้ การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมพลังงาน ชีวมวลที่กำลังเข้ามาในภาคตะวันออก
ด้านนายสุชัย กิตตินันทศิลป์ ผู้อำนวยการ สศท.6 กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดทำแนวทางบริหารจัดการตามยุทธศาสตร์ไผ่เศรษฐกิจจังหวัดชลบุรี โดยได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ประชุมจัดทำแผนพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีและธุรกิจไผ่ชุมชน และแผนพัฒนาพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ไผ่เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่ง สศท.6 ในฐานะคณะทำงานได้ร่วมสนับสนุนข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน สถานการณ์ตลาด ความต้องการใช้ไผ่ของภาคตะวันออก และแนวทางการพัฒนาไผ่เศรษฐกิจสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปแนวทางการบริหารจัดการไผ่ ประกอบด้วย 2 เป้าหมายการพัฒนาหลัก ได้แก่ 1) การสร้างแหล่งองค์ความรู้ไผ่สู่ชุมชน โดยจัดตั้งและพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีและธุรกิจไผ่ชุมชน และแผนพัฒนาพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ไผ่เศรษฐกิจ (KM) และ 2) การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชลบุรี ในฐานะเจ้าภาพหลัก การขับเคลื่อนนำร่องในระดับพื้นที่ครั้งนี้ได้เสนอ “โครงการเพิ่มศักยภาพและการจัดการธุรกิจไผ่ไม้เศรษฐกิจชุมชนจังหวัดชลบุรี” ภายใต้กรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้านเกษตร แผนงานเศรษฐกิจฐานรากเศรษฐกิจชุมชน ซึ่ง สศท.6 จะร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยจะมีการจัดประชุมเพื่อวางแผนขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้แนวทางการบริหารจัดการไผ่เศรษฐกิจ ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม นี้ หากท่านใดที่สนใจผลการศึกษาไผ่ของภาคตะวันออกสามารถสอบถามได้ที่ สศท.6 โทร. 0 3835 1398 หรือ [email protected]