สศก. แนะ 'แพะเนื้อ’ สินค้าปศุสัตว์ทางเลือก เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย สร้างกำไรงาม

13 Jan 2020
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสินค้าปศุสัตว์ทางเลือก ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น คือ การเลี้ยงแพะเนื้อ (ขุน) โดยเกษตรกรในจังหวัดนิยมเลี้ยงสายพันธุ์ ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์บอร์ (Boer) และแองโกลนูเบียล (Anglo-Nubian) ซึ่งเป็นพันธุ์เนื้อ เป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย บริโภคภายในภูมิภาคเพียงร้อยละ 10
สศก. แนะ 'แพะเนื้อ’ สินค้าปศุสัตว์ทางเลือก เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย สร้างกำไรงาม

จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) พบว่า เกษตรกรมีการเลี้ยงแพะเนื้อ ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอสีชมพู เมือง แวงใหญ่ และอุบลรัตน์ เป็นต้น สำหรับพื้นที่ อำเภอสีชมพู เป็นพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์ ในนามวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงแพะบ้านผาเที่ยง มีจำนวนสมาชิก 45 ราย เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้เลี้ยงแพะแบบเชิงเดี่ยว ซึ่งปัจจุบันมีแพะจำนวน 3,014 ตัว แยกเป็นเพศผู้ 950 ตัว เพศเมีย 2,064 ตัว ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์บอร์ (Boer) และแองโกลนูเบียล (Anglo-Nubian) มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,154.87 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 353.63 บาท ค่าแรงงาน 599.93 บาท ค่าอาหาร 528.07 บาท และส่วนที่เหลือ 1,673.24 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่ายาป้องกันโรค ค่าเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ โดยแม่แพะ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะเฉลี่ย 2 ตัว/ท้อง (ลูกแฝด) สำหรับราคาขาย เกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้อ (อายุเฉลี่ย 6 เดือน น้ำหนักประมาณ 30 กก./ตัว) ในราคาเฉลี่ย 3,900 บาท/ตัว (130 บาท/นน.ตัว 1 กก.) ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 742.13 บาท/ตัว

ด้านนายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงแพะเนื้อจะใช้พื้นที่ไม่มากนัก สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่น อาหารหยาบ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าสด ใบกระถิน และต้นถั่วฮามาต้า ส่วนอาหารข้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป กากและเปลือกมันสำปะหลังหมักยีสต์ โดยแพะเนื้อต้องการอาหารวันละ 1-2 กก./วัน เท่านั้น และยังทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้แพะเนื้อเจริญเติบโต และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์บริการฉีดวัคซีนป้องกันปากเท้าเปื่อยทุก 6 เดือนเป็นประจำ ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดแพะเนื้อ ในจังหวัดขอนแก่น สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.4 โทร. 0 4326 1513 หรืออีเมล [email protected] หรือสามารถขอคำปรึกษา นางพัชราภรณ์ โพธิ์ศรี ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงแพะบ้านผาน้ำเที่ยง ตำบลบริบูรณ์ อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น โทร. 06 1591 1953

HTML::image( HTML::image( HTML::image(