ส่องกล้องทางเดินอาหารฯ ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ อีกหนึ่งมิติใหม่แห่งการให้ของรพ.จุฬา

05 Oct 2017
มะเร็งยังคงเป็นโรคคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 1 มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยมีผู้ป่วย 1 ในพันของประชากร จากสถิติของสถาบันมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นโรคลำดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด ซึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิต โดยปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ประกอบด้วย 1. เพศชาย 2. มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งชนิดดังกล่าว ซึ่งเป็นโรคนี้ก่อนอายุ 50 ปี 3. เป็นบุคคลที่ไม่ออกกำลังกายและประสบปัญหาโรคอ้วน 4. พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น แม้จะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ถ้าเริ่มป้องกัน เฝ้าระวัง เมื่อรู้เร็วก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
ส่องกล้องทางเดินอาหารฯ ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ อีกหนึ่งมิติใหม่แห่งการให้ของรพ.จุฬา

ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า "ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป จำเป็นต้องเข้าตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคร้ายนี้จะแสดงอาการ ต่อเมื่อเป็นถึงขั้นหนักแล้ว โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักคิดว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันมีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งทุกคนควรจะเฝ้าระวัง และตรวจสุขภาพอยู่เสมอ การตรวจกรองจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เนื่องจากว่าการเป็นติ่งเนื้อที่ลำไส้ จะไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ปรากฏให้ทราบก่อนเลย ซึ่งลำไส้ใหญ่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 4 เซนติเมตร ติ่งเนื้อเพียง 1 เซนติเมตรก็สามารถเป็นมะเร็งได้ หากพบติ่งเนื้อระยะแรก ๆ จะสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ ด้วยการตัดทิ้งได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่นั้นทันที "

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร หนึ่งใน "มิติใหม่แห่งการให้เพื่อทุกชีวิต" เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วย ซึ่งเปิดให้บริการที่ชั้น 10 ของอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดให้บริการห้องตรวจการส่องกล้อง จำนวน 9 ห้อง แบ่งเป็นห้องตรวจตับ 1 ห้อง ห้องตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร 1 ห้อง มีผู้ป่วยมารับบริการตรวจวันละประมาณ 40-50 รายต่อวัน ทางศูนย์ฯ มีบริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรงทางเดินอาหาร โดยแบ่งออกเป็น 7 ส่วน ได้แก่

1. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) เป็นการส่องกล้องตรวจตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อตรวจหารอยโรค สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยได้ และยังช่วยในการรักษาหยุดเลือดออก การตัดชิ้นเนื้องอกระยะแรก เป็นต้น

2.การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy) เป็นการส่องกล้องเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ จากทวารหนักจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น กรณีพบสิ่งผิดปกติ จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจพยาธิวิทยา รวมทั้งสามารถตัดชิ้นเนื้องอกในระยะแรกได้เกือบหมด ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปผ่าตัด

3.การส่องกล้องทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangio Pancreatography : ERCP) เป็นการส่องตรวจและรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน มีไฟส่วนปลายกล้อง ร่วมกับการถ่ายภาพรังสี ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและรักษาภาวะที่เรียกว่า ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ที่เกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน จากนิ่วในท่อน้ำดีหรือมะเร็ง

4. การส่องกล้องอัลตราซาวน์ (Endoscopic Ultrasonography : EUS) เป็นการส่องตรวจและรักษาท่อทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในท่อทางเดินน้ำดี โรคต่าง ๆ ที่มีก้อนหรือถุงน้ำในตับอ่อน เช่น ก้อนในตับอ่อน ถุงน้ำในตับอ่อน และตับอ่อนอักเสบ และรอยโรคใต้ชั้นผิวในระบบทางเดินอาหาร โดยการใช้กล้องคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้ระบบคลื่นเสียงความถี่สูงในการดูรอยโรค ทำหัตถการตามข้อบ่งชี้หรือความผิดปกติที่พบ เช่น การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ การใส่สายระบายทางเดินน้ำดีหรือตับอ่อน

5.การส่องกล้องลำไส้เล็กด้วยกล้องลูกโป่งคู่ (Double Balloon Endoscopy : DBE) เป็นการตรวจลำไส้เล็กด้วยการสอดกล้องเข้าทางปาก และ/หรือ ทางทวารหนัก เพื่อวินิจฉัยโรคของลำไส้เล็ก ในผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออก ลำไส้อักเสบ หรือเนื้องอกของลำไส้เล็ก เป็นต้น

6. การตรวจตับด้วยไฟโบรแสกน เป็นการตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรแสกนเพื่อวัดปริมาณไขมันและพังผืดในตับ

7. การตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และการตรวจวัดระดับกรดในหลอดอาหาร ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน กลืนลำบาก ท้องผูก เป็นต้น

ทั้งยังมีหัตถการพิเศษอย่างอื่น เช่น POEM, ESD, LASER Lithotripsy ฯลฯ เป็นต้น โดยมีการให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ รวมถึงให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหารฉับพลัน (Emergency GI bleeding) ด้วยการส่องกล้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และมีจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มมากขึ้นมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยศูนย์แห่งนี้มีทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญด้านส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร มายานานกว่า 15 ปี พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครัน คอยให้บริการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร เพื่อคัดกรองและตรวจหาติ่งเนื้อ ซึ่งอาจจะกลายโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต ด้วยระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง หรือ หนึ่งชั่วโมงเมื่อพบแล้วจะตัดติ่งเนื้อทิ้งทันที ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก แต่มีประสิทธิภาพสูง ถ้าหากว่าไม่พบติ่งเนื้อ ก็สามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งและพอจะบอกได้ว่าจะไม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก 5 – 10 ปี "

สำหรับการส่องกล้องในขั้นแรก จะใช้วิธีการชำระล้างลำไส้ ซึ่งเป็นระบบทันสมัย สามารถทานยาระบายเพื่อให้ลำไส้ใหญ่ปราศจากอุจจาระ ทำให้การส่องกล้องไม่ยาก โดยไม่มีกากอุจจาระเหลือบดบังเนื้องอกหรือติ่งเนื้อ วิธีการตรวจคัดกรองโรคลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง สามารถพบเชื้อมะเร็งตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ ถึง 90 เปอร์เซ็นต์และที่สำคัญมีโอกาสสูงที่คนไข้จะไม่กลับมาเป็นโรคชนิดนี้อีก และเพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในการบริการผู้ป่วย ด้านการวิจัยและวิชาการ จึงมีการวางแนวทางสำหรับโครงการพัฒนาการเรียนการสอนเรื่องการส่องกล้องทางเดินอาหาร และการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษในการส่องกล้องอีกด้วย

ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าวต่อว่า "ในด้านการเรียนการสอนนั้น ทางศูนย์ฯ ได้มีผลงานทางวิชาการโดยมีบทความและตำราตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากว่า 200 เรื่อง และได้เปิดสอนแพทย์ประจำบ้านต่อยอด Fellow สาขาระบบทางเดินอาหารเป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว รวมทั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านโรคทางเดินอาหารโดยมีแพทย์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย เวียดนาม ฯลฯ ให้ความไว้วางใจมาฝึกอบรมและเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ และศูนย์ฯ ได้มีการร่วมผลิตและพัฒนาอุปกรณ์กล้องส่องทางเดินอาหารและอุปกรณ์เสริมในการส่องกล้องร่วมกับบริษัทชั้นนำจากนอกประเทศและในประเทศไทย ล่าสุดทางศูนย์ฯ ได้คิดค้นโปรแกรมการรายงานผลส่องกล้องในรูปแบบ Wave Base ซึ่งเป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับท่อระบายน้ำดีโลหะขึ้นมาเอง ที่สามารถดูทั้งรูปและคลิปวีดีโอได้ และได้รับการจดสิทธิบัตรในนามศูนย์ฯ ทั้งยังได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้เก็บข้อมูล เพื่อประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขไทยต่อไป

และในระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2561 ศูนย์ฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม " EUS 2018" ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ระดับโลก จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยมีวิทยากรและผู้ร่วมประชุมจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน จะเป็นอีหหนึ่เวทีให้ประเทศไทยได้โชว์ศักยภาพของการเป็นผู้นำด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ ในอนาคตทางศูนย์ฯ จะเพิ่มความสะดวกให้กับคนไข้ โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์ และนัดตรวจผ่านทางออนไลน์ได้ด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 10 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไท โทรศัพท์ 02 256 4265" ศ.นพ.รังสรรค์" กล่าวในที่สุด

HTML::image( HTML::image( HTML::image(