ฟิทช์: ธนาคารไทยมีสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 แต่เงินกองทุนและสำรองหนี้สูญยังคงแข็งแกร่ง

29 Jul 2016
จากผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลง และฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังคงมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (แต่ไม่น่าจะสูงขึ้นมากนัก) สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานโดยรวมที่ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่ประกาศออกมานั้นสอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมเป็นลบที่ฟิทช์ได้มองไว้สำหรับภาคธนาคารพาณิชย์ไทย และฟิทช์ยังคงเชื่อว่าฐานะเงินกองทุนและระดับของสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังคงเพียงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจได้

ฟิทช์ยังคงแนวโน้มอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นลบต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากฟิทช์คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจอาจมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงและจะส่งผลให้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอัตรากำไรปรับตัวต่ำลง ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยในครึ่งแรกของปี 2559 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของฟิทช์ โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของภาคธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จาก 3.2% ณ สิ้นปี 2558 และอัตรากำไรมีการปรับตัวลดลงเช่นกัน

ค่าใช้จ่ายจากตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารที่ปรับตัวเพิ่มขี้นเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้กำไรปรับตัวลดลง โดยค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 40.1% ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองหนี้สูญ (pre-provisioning operating profit) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 จาก 31% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558

ด้วยระดับหนี้สินภาคเอกชนที่ค่อนข้างสูง ความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกที่อ่อนแอลง และความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัจจัยดังกล่าวยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังคงเป็นปัจจัยท้าทายการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงที่ 2.3% ในครึ่งแรกของปี 2559 จาก 3.4% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

การลงทุนภาครัฐซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากปีนี้ น่าจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ปรับตัวดีขึ้น และหนุนให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในระดับ 2.9% ในปี 2559 และ 3.2% ในปี 2560 แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตดังกล่าวยังเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ฟิทช์มองว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานสำหรับธนาคารพาณิชย์โดยรวมน่าจะยังคงอ่อนแอไปจนถึงสิ้นปี 2559 ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์

ฟิทช์ยังคงแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ที่ "แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ" แม้ว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็น "ลบ" ความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์อาจประตัวด้อยลงบ้าง แต่ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงมีฐานะเงินกองทุนและระดับของสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแรง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Common Equity Tier 1 Ratio) เฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 14.2% ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 14% ณ สิ้นปี 2558 และยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำค่อนข้างมาก (ซึ่งเมื่อรวมเงินกองทุนเพิ่มเติมเผื่อสำรองไว้ยามฉุกเฉิน (Conservation Buffer) แล้วเกณฑ์ขั้นต่ำจะเป็น 5.125 % ในปีนี้และจะเพิ่มเป็น 7% ในปี 2562) นอกจากนี้อัตราสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงแข็งแกร่งเช่นกัน โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100% สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ และสูงกว่า 80% สำหรับธนาคารขนาดเล็ก

ฟิทช์ยังคงคาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะสามารถผ่านเกณฑ์ Basel III เพิ่มเติมอื่นๆ ได้ ทั้งนี้รวมถึงเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (liquidity coverage ratio; LCR) ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้ที่ระดับ 60% และจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นปีละ 10% ไปจนครบ 100% ในปี 2563 โดยอัตราส่วน LCR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 171% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2559