ปภ.แนะผู้ขับขี่เรียนรู้เทคนิคขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม...ลดเสี่ยงอันตราย

19 May 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมและหลังขับรถลุยน้ำท่วม โดยเมื่อขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ไม่ควรขับรถเร็ว รักษาความเร็วรถอย่างสม่ำเสมอ ไม่เร่งเครื่องยนต์ เพราะน้ำอาจกระจายขึ้นมาบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง และเข้าไปในห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับได้ หากระดับน้ำลึกและไหลเชี่ยวควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น รวมถึงปิดเครื่องปรับอากาศ ใช้เกียร์ต่ำ ไม่เร่งเครื่องให้รอบเครื่องสูงเกินไป ลดการใช้เบรก และเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ หลังขับรถลุยน้ำท่วม ให้เหยียบเบรกไล่น้ำออกจากระบบเบรก พร้อมขับรถต่อไปอีกประมาณ 20 นาที เพื่อให้ความชื้นที่อยู่ในระบบต่างๆ ของรถและเครื่องยนต์ระเหยออกไป ตลอดจนตรวจสอบการทำงานของรถ หากมีอาการผิดปกติควรนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจสอบสภาพก่อนนำรถไปใช้งาน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ระยะนี้หลายพื้นที่มีฝนตก ทำให้เส้นทางต่างๆ มีน้ำท่วม ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะหากผู้ขับขี่ไม่รู้หลักในการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมอย่างถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมและหลังขับรถลุยน้ำท่วม ดังนี้ การขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมระดับผิวถนน ไม่ขับรถเร็ว รักษาความเร็วรถอย่างสม่ำเสมอ ไม่เร่งเครื่องยนต์ เพราะน้ำที่ถูกยางล้อรถรีดอาจกระจายขึ้นมาเต็มหน้ากระจกรถ จนบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง รวมถึงน้ำอาจเข้าไปในห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับได้ น้ำท่วมระดับท้องรถ ควรขับรถให้ช้าที่สุด รักษาความเร็วให้อยู่ในระดับเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมขับรถไปตามแนวการขับขี่ของรถคันหน้า เพื่อป้องกันรถออกนอกเส้นทาง โดยขับรถบนถนนส่วนที่น้ำตื้นที่สุด และระวังคลื่นน้ำจากรถที่ขับสวนทางมา เพราะกระแสน้ำอาจพัดเข้าไปในห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับ ส่งผลให้รถลอยตัวจนไม่สามารถควบคุมทิศทางรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ น้ำท่วมถึงระดับไฟหน้ารถ เป็นระดับน้ำท่วมที่อันตรายที่สุด ผู้ขับขี่ควรหยุดรถเพื่อประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำลึกและไหลเชี่ยวควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ไม่ฝืนขับรถผ่านเส้นทางดังกล่าว เพราะรถไม่สามารถต้านแรงน้ำ ส่งผลให้รถจมน้ำ ก่อให้เกิดอันตรายได้ ข้อควรปฏิบัติในการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ดังนี้ ปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะพัดลมจะพัดน้ำเข้าไปในห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับ รวมถึงอาจพัดเศษวัสดุเข้าไปติดในมอเตอร์พัดลมหรือใบพัด ทำให้ระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์ขัดข้อง ใช้ความเร็วต่ำ และรักษาความเร็วให้อยู่ในระดับเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่เร่งเครื่องให้รอบเครื่องสูงในทันที เพราะจะทำให้ความร้อนสูงขึ้น ใบพัดระบายความร้อนทำงาน ทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์มากขึ้น ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับได้ ใช้เกียร์ต่ำ โดยรถยนต์เกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ 1 หรือเกียร์ 2 พยายามเลี้ยงคลัตช์ พร้อมเร่งเครื่องยนต์ให้รอบเครื่องสูงกว่าปกติเล็กน้อย ส่วนรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ควรใช้เกียร์ L และรักษารอบเครื่องยนต์ให้คงที่ ลดการใช้เบรก โดยใช้แรงเฉื่อยของเครื่องยนต์ในการหยุดรถหรือชะลอความเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ หากรถคันหน้าขัดข้องหรือหยุดกะทันหันจะได้มีระยะในการหยุดรถอย่างปลอดภัย สำหรับข้อควรปฏิบัติหลังขับรถลุยน้ำท่วม ให้เหยียบย้ำเบรกและคันเร่งสลับกันอย่างช้าๆ โดยทำซ้ำๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก จะช่วยให้ระบบเบรกใช้งานได้ตามปกติ หากเป็นรถยนต์เกียร์ธรรมดาให้เหยียบย้ำคลัตช์ เพื่อป้องกันคลัตช์ลื่น และให้ขับรถต่อไปอีกประมาณ 20 นาที เพื่อไล่น้ำหรือความชื้นที่ค้างอยู่ในระบบต่างๆ ของรถและเครื่องยนต์ระเหยออกไป ไม่ดับเครื่องยนต์ในทันที ให้สตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที รวมถึงเปิดเครื่องปรับอากาศ จะช่วยให้เครื่องยนต์แห้งเร็วขึ้น พร้อมตรวจสอบน้ำมันเกียร์ หากมีสีคล้ายสีชาเย็นแสดงว่ามีน้ำเข้าไปอยู่ในระบบเกียร์ ให้เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ หากตรวจพบรถมีอาการผิดปกติ เช่น เครื่องยนต์สั่น มีเสียงดัง เป็นต้น ควรนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจสอบสภาพก่อนนำรถไปใช้งาน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th