ฟิทช์ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ที่ BBB+(tha)

21 Dec 2004

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวและระยะสั้นแก่บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (“KK”) ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ และ ‘F2(tha)’ ตามลำดับ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร และเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตได้พิจารณาถึงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ เช่นการที่ KK มีการปล่อยสินเชื่อในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างสูง ความเสี่ยงในการที่บริษัทอาจจะต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นในอนาคต และความสามารถในการจัดหาเงินทุนรวมทั้งสภาพคล่องที่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่กว่า KK คาดว่าจะยกฐานะบริษัทเป็นธนาคารพาณิชย์ภายในเดือนกรกฎาคม 2548 โดยจะสามารถประกอบธุรกรรมได้กว้างขึ้น รวมทั้งยังสามารถรับเงินฝากบัญชีออมทรัพย์และกระแสรายวันจากประชาชนได้ การเปลี่ยนสภาพเป็นธนาคารพาณิชย์จะช่วยเพิ่มความสามารถในการระดมทุนของบริษัทในระยะปานกลางได้ ความสามารถในการทำกำไรของ KK สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง และรายได้ค่านายหน้าจากการค้าหลักทรัพย์ รวมถึงกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

ใน 9 เดือนแรกของปี 2547 KK มีกำไรสุทธิที่ 1.8 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 1.4 พันล้านบาท ใน 9 เดือนแรกของปี 2546) เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อถึง 33% อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้นจาก 5% ในปี 2544 เป็น 8% ในปี 2546 ถึงแม้ว่าอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธินี้จะลดลงเล็กน้อยมาสู่ระดับ 7.2% ใน 9 เดือนแรกของปี 2547 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิดังกล่าวอาจสูงกว่าในสภาวะปกติ เนื่องจากได้รวมผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในการคำนวณด้วย ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิและการเติบโตของรายได้ของบริษัทใน 2 ปีข้างหน้า บริษัทได้ปรับสัดส่วนการระดมทุนโดยพึ่งพาเงินทุนระยะยาวให้มากกว่า 50% ของการจัดหาเงินทุนทั้งหมดเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 สินเชื่อโครงการที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นสัดส่วนใหญ่ ของ สินเชื่อทั้งหมดของ KK หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 6.3 พันล้านบาท (หรือ 13.9% ของสินเชื่อทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.1 พันล้านบาท (9.3% ของสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นปี 2546 เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงและหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วบางส่วนย้อนกลับมาเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีก รวมถึงการจัดชั้นหนี้ใหม่เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการในการใช้เกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่เข้มงวดมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดังกล่าว ส่งผลให้ระดับเงินสำรองหนี้สูญ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 ลดลงสู่ระดับ 59.8% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากระดับ 98.9% ณ สิ้นปี 2546 ฟิทช์กล่าวว่าสัดส่วนการให้สินเชื่อในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สูงและการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่คุณภาพของสินทรัพย์อาจถดถอยลงในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า

รายได้จากค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์อยู่ที่ 8% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2546 ถึงแม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะผันผวนในอนาคต รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพซึ่งอยู่ที่ 16% ของรายได้ในปี 2546 จะยังคงมีส่วนช่วยสนับสนุนรายได้ของบริษัทในอนาคต เนื่องจาก KK ได้ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวน 2.2 พันล้านบาท (ที่ราคา 29% ของมูลค่าเดิม) จากกรมบังคับคดี ในปีที่แล้ว นอกเหนือไปจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ซื้อจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินและธนาคารอื่น) ตั้งแต่ปี 2541 ที่ยังเหลืออยู่เป็นจำนวน 8.5 พันล้านบาท (ที่ราคา 31% ของมูลค่าเดิม)

อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากของ KK เพิ่มขึ้นในปี 2546 โดยเงินสดและเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 25.9% ของยอดเงินฝาก ณ สิ้นปี 2546 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงเป็น 11.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินทรัพย์ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 131% ณ สิ้นปี 2546 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากดังกล่าวจะลดลงสู่ระดับ 125% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 บริษัทพึ่งพาเงินทุนส่วนใหญ่จากผู้ฝากเงินรายใหญ่ซึ่งเป็นฐานเงินทุนที่ค่อนข้างผันผวน อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างธุรกิจแบบธนาคารพาณิชย์ในอนาคต บริษัทจะพึ่งพาเงินทุนส่วนใหญ่จากผู้ฝากเงินรายย่อยซึ่งเป็นฐานเงินทุนที่มีเสถียรภาพมากกว่าในระยะยาว

เงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ KK เพิ่มขึ้นเป็น 12.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 (คิดเป็น 31.4% ของสินทรัพย์เสี่ยง) จากระดับ 10.4 พันล้านบาท (29.9% ของสินทรัพย์เสี่ยง) ณ สิ้นปี 2545 เป็นผลมาจากการสะสมกำไรของบริษัทและการใช้สิทธิซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นที่ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอยู่ ในขณะที่การเติบโตอย่างรวดเร็วของสินทรัพย์และการจ่ายเงินปันผลจะทำให้อัตราเงินกองทุนลดลง เงินกองทุนของ KK ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินอื่นในประเทศไทย

ติดต่อ

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,

Vincent Milton, กรุงเทพฯ

+662 655 4762/4759

David Marshall, ฮ่องกง

+852 2263 9963

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย--จบ--