กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A-” จากเดิมที่ “BBB+” โดยสะท้อนความสามารถของผู้บริหารในการสร้างรายได้จากธุรกิจที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีฐานทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการที่บริษัทยังคงตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่แข็งแกร่ง ทว่าปัจจัยบวกเหล่านี้ถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงในธุรกิจเช่าซื้อและการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าผู้บริหารของบริษัทจะสามารถรักษาระดับกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจเช่าซื้อและสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะตัวของบริษัท และขนาดทุนที่เพียงพอทำให้บริษัทมีโอกาสสูงที่จะได้รับการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ แต่บริษัทก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นเพราะขอบเขตของธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้นกว้างขึ้น
ทริสเรทติ้งรายงานว่า นับตั้งแต่เปิดดำเนินการอีกครั้งในปี 2541 บง. เกียรตินาคิน ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและการจัดสรรทุนโดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจมากกว่าการขยายฐานการเติบโตของทรัพย์สิน บริษัทเปลี่ยนจากการเน้นธุรกิจเช่าซื้อไปเป็นการลงทุนประมูลซื้อทรัพย์สินด้อยคุณภาพจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ระหว่างปี 2542-2543 ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจและยังขยายขอบเขตความชำนาญและประสบการณ์ในการจัดการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท และได้นำไปสู่โอกาสในธุรกิจใหม่ ในขณะเดียวกัน บริษัทได้นำหลักเกณฑ์การประเมินทรัพย์สินและนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดมาใช้กับสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ได้ประมูลซื้อมาด้วย
ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจเช่าซื้อช่วยให้บริษัทสามารถกลับมาขยายขนาดสินเชื่อเช่าซื้อได้โดยง่ายในปี 2547 โดยสินเชื่อดังกล่าวมีสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดาสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัท ด้วยขนาด 18,606 ล้านบาท หรือ 27% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 จากการที่ขนาดของสิทธิเรียกร้องจากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่บริษัทประมูลซื้อมาได้ลดลงจากประมาณ 19,500 ล้านบาทในปี 2542 มาอยู่ที่ประมาณ 10,400 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 บริษัทก็ได้เริ่มดำเนินธุรกิจใหม่นับตั้งแต่ปี 2543 คือสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ บริษัทได้นำประสบการณ์และทักษะการบริหารสินเชื่อจากเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้องมาช่วยในการประเมินความเสี่ยงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ จากการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้นเมื่อสิทธิเรียกร้องจากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่บริษัทประมูลซื้อมาหมดลง สินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทมีสัดส่วนประมาณ 21% ของสินทรัพย์รวม หรือ 10,235 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2547
สินทรัพย์รวมของบริษัท ณ กลางปี 2547 อยู่ที่ระดับ 48,606 ล้านบาท อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพิ่มขึ้นจาก 12.9% ในปี 2542 มาเป็น 26.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 และ ณ เดือนมิถุนายน 2547 สิทธิเรียกร้องจากสินทรัพย์ที่บริษัทประมูลซื้อผ่าน ปรส. มีส่วนเกินทุนอยู่จำนวน 1,114 ล้านบาทจากขนาดต้นทุนที่ระดับ 9,340 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าส่วนเกินทุนในปี 2546 ที่มีอยู่จำนวน 1,002 ล้านบาทจากขนาดของต้นทุนที่ระดับ 8,462 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่อีก 3 แห่งแล้ว บริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยสูงกว่า โดยอยู่ที่ระดับ 15.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ซึ่งค่าเฉลี่ยของ บง. อื่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ระดับ 13.7% อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่เคยโอนหนี้เสียไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย บริษัทมีจำนวนสินเชื่อที่มีปัญหาจากสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นในปี 2547 เมื่อเทียบกับปี 2546 ผู้บริหารมีนโยบายในการดำรงความพอเพียงของเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่ออันดับเครดิตของบริษัท การที่บริษัทมีการให้สินเชื่อในลักษณะที่มีทั้งความเสี่ยงและผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ บริษัทจึงต้องมีนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดให้เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากสินเชื่อที่มีปัญหา สำหรับสินเชื่อทั่วๆ ไปนั้น บริษัทได้ตั้งสำรองเพิ่มจากระดับปกติอีก 20% สำหรับสินเชื่อจัดชั้นประเภทสงสัยจะสูญ ส่วนสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์นั้น บริษัทได้ตั้งสำรองเพิ่มอีก 20% ไว้สำหรับสินเชื่อจัดชั้นประเภทต่ำกว่ามาตรฐานไปจนถึงชั้นสงสัยจะสูญถึงแม้ว่าสินเชื่อเหล่านี้จะมีมูลค่าหลักประกันคุ้มมูลหนี้ก็ตาม สัดส่วนการตั้งสำรองของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 อยู่ที่ระดับ 154.2% ของการตั้งสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit