กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
กระทรวงคมนาคมร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโครงการศึกษาต้นทุนที่แท้จริงของการขนส่งผู้โดยสารทางบก ทางน้ำ และทางรถไฟ และจัดทำแบบลำลองที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนที่เหมาะสม ก่อนจัดทำเป็นรายงานเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา โดยมีนายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2545 ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร
กระทรวงคมนาคมว่าจ้างบริษัท เจเอ็มพี (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการศึกษาต้นทุนที่จริงของการขนส่งผู้โดยสารทั้งทางบก ทาน้ำ และทางรถไฟ มีระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 8 เดือน ระหว่างวันที่ 28 มกราคม -28 กันยายน 2545 โดยการศึกษาให้บริการขนส่งผู้โดยสารทางบกจะครอบคลุมถึงรถโดยสารประจำทางหมวด 1 (รถโดยสารประจำทาง ขสมก. รถมินิบัส รถไมโครบัส รถตู้ รอสองแถว) หมวด 2 (รถที่วิ่งให้บริการรับส่งผู้โดยสารที่มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพฯไปยังจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาค) หมวด 3 (รถที่วิ่งให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในภูมิภาค) และหมวด4 (รถที่วิ่งให้บริการขนส่งผู้โดยสารในเขตจังหวัด) การให้บริการผู้โดยสารทางน้ำจะครอบคลุมถึงเรือเดินทางประจำทางและเรือข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งเรือเฟอร์รี่ส่วนทางรถไฟจะครอบคลุมถึงการให้บริการรถไฟโดยสารทุกประเภทที่การรถไฟแห่งประเทศไทยให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยเน้นความสำคัญของรถไฟชานเมืองเป็นพิเศษ ซึ่งการศึกษาต้นทุนของ ขสมก. และรถไฟได้แยกพิจารณาเป็น 2 กรณีด้วย คือ ศึกษาในลักษณะการให้บริการสาธารณะ และการให้บริการในเชิงพาณิชย์
โครงการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะใช้ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าบริการขนส่งผู้โดยสารที่ถูกต้องสมบูรณ์ และเพื่อให้ได้แบบจำลองที่จะใช้ในการวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริงของการขนส่งผู้โดยสารทางบก ทางน้ำ และทางรถไฟที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งให้ได้แนวทาง ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบจำลอง การกำหนดอัตราค่าบริการตลอดจนการบริการจัดการ การกำกับดูแลการให้บริการผู้โดยสารที่มีประสิทธิภาพ
นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ กล่าวว่า การขนส่งผู้โดยสารเป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ที่รัฐจำเป้นต้องดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นธรรมแก่ผู้โดยสารและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร แต่ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรัฐต้องประสบความยากลำบากในการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าโดยสารที่มักจะเกิดข้อโต้แย้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บริการเสมอเนื่องจากพิจารณาขาดข้อมูลที่แท้จริงของต้นทุนการประกอบการขนส่ง รวมทั้งปบบจำลองที่ใช้ใจการคำนวณต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทำให้เกิดความล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนในบางครั้งผู้ประกอบการได้รวมตัวกันประท้วงหยุดการให้บริการเพื่อเร่งรัดให้ทางราชการพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารโดยเร็ว ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
สำหรับผลการสัมมนาในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาจะได้นำความคิดเห็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปใช้ปรับปรุงร่างรายงานการศึกษาฯ ของบริษัทที่ปรึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และจัดทำเป็นรายงานเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำผลการศึกษาและแบบจำลองดังกล่าวไปใช้ประกอบการตัดสินใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น--จบ--
-ยอ/สส-