กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--วอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิคเจอร์ส
เจ้าพ่ออาชญากร พอล วิตตี (โรเบิร์ต เดอ นีโร) กำลังใกล้จะพ้นโทษ จากการถูกจองจำที่เรือนจำ ซิงซิง ทว่าเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่ต้องคอยสอดส่องดูแลเขาต่างก็พากันสับสนงุนงงอย่างทั่วหน้า เมื่อพวกเขาต้องใช้เวลาทุกๆ วัน เฝ้าดูหัวหน้าแกงค์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของนิวยอร์คเดินวนเวียนในห้องขัง เหมือนเสือหน้าโง่ติดจั่น และในบางเวลาก็ระเบิดเสียงร้องเพลงจากหนังเรื่อง West Side Story ออกมา
วิตตีกำลังจะเสียสติไปเนื่องจากการถูกคุกคามชีวิตโดยครอบครัวคู่อาฆาตในช่วงที่ผ่านมา หรือว่าพฤติกรรมแปลกๆ นั้นเป็นแผนการของเขาเพื่อจะได้ทำให้พ้นโทษเร็วขึ้นกันแน่? เจ้าหน้าที่เอฟบีไอไม่แน่ใจในเรื่องนั้น แม้แต่อดีตจิตแพทย์ประจำตัวของเขา เบน โซเบล (บิลลี่ คริสทัล) ที่ถูกเรียกตัวมาเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกรณีนี้ก็เช่นกัน
ครั้งสุดท้ายที่โซเบลได้รักษาวิตตี เขาได้พยายามหาสมุหฐานของอาการถูกจู่โจมโดยความวิตกในช่วงอ่อนแอ แต่ไม่อาจแม้แต่กะเทาะผิวหน้าออกมาได้ มันต้องใช้เวลาในอันที่จะวิเคราะห์ความชั่วร้ายที่ยังสิงสู่อยู่ในความคิดของวิตตี เพื่อทำให้เขากลับตัวกลับใจ - เวลาที่โซเบลไม่พร้อมจะมีให้ ไม่ใช่กับวิตตี ไม่ใช่ตอนนี้
ความจริงก็คือ โซเบลกำลังมีปัญหาของตัวเอง พ่อของเขาเพิ่งจะตายจากไป และนั่นทำให้เขาตกอยู่ในวิกฤติชีวิตทั้งส่วนตัวและหน้าที่การงาน นอกจากนั้น เขารู้ดีว่าภรรยาของเขา ลอร่า (ลิซ่า ครูโดว์) จะต้องเป็นฟืนเป็นไฟ หากเขายอมให้วิตตีผู้ไม่อาจเดาใจได้กลับเข้ามาวุ่นวายกับชีวิตพวกเขาอีก
แต่เมื่อวิตตีได้รับทันฑ์บนปล่อยตัวออกมาภายใต้การดูแลของโซเบล และกลายเป็นคนไข้ของเขาอีกครั้ง
-- ที่ร้ายไปกว่านั้น -- คือการเป็นแขกของบ้านเขา และจิตแพทย์ผู้หนักใจกลับพบว่าเขาไม่มีทางเลือก และเพื่อที่จะกอบกู้ความสงบให้กลับคืนมาสู่ชีวิต เขาจำต้องช่วยหัวหน้าอาชญากรแก้ปัญหาทางจิต โดยหางานที่มีรายได้สูงให้ เพื่อมีชีวิตปกติธรรมดา ข่าวดีก็คือ วิตตีเริ่มจริงใจและร่วมมือในการรักษา และโซเบลก็อยากจะเชื่อเขาจริงๆ แต่ทว่าเขาจะแน่ใจได้อย่างไร ในเมื่อพลพรรคของลู เดอะ เรนช์ คอยมาปรากฎตัวอยู่เรื่อย?
วอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิคเจอร์ส ร่วมกับ วิลเลจ โรดโชว์ พิคเจอร์ส และ NPV เอ็นเตอร์เทนเมนท์ แห่งบัลติมอร์ สปริง ครีก พิคเจอร์ส, เฟซ / ทรีเบ็กก้า โปรดักชั่น โดย แฮโรลด์ เรมิส เสนอ: โรเบิร์ต เดอ นีโร, บิลลี่ คริสทัล, ลิซ่า ครูโดว์ และโจ วิทเทอเรลลี่ นำแสดง ใน Analyze That, ร่วมด้วย เคธี มอริอาที-เจนทิล กำกับการแสดงโดย แฮโรลด์ เรมิส และอำนวยการสร้างโดย พอล่า วีนสไตน์ และ เจน โรเซนธัล, Analyze That เขียนบทภาพยนตร์โดย ปีเตอร์ สไตน์เฟล และ แฮโรลด์ เรมิส กับปีเตอร์ โทแลน บิลลี่ คริสทัล, แบรี่ เลวินสัน, คริส บริคแฮม, เลน อามาโต้ และบรูซ เบอร์แมน เป็นผู้อำนวยการบริหาร; ซูซาน แฮร์ริงตัน ร่วมอำนวยการสร้าง กำกับภาพโดย เอลเลน คูราส, A.S.C.; ออกแบบฝ่ายศิลป์โดย วิน โธมัส; ลำดับภาพโดย แอนดรู มอนด์ชีน, A.C.E. ดนตรีประกอบโดย เดวิด โฮล์มส
Analyze That จัดจำหน่ายทั่วโลกโดยวอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิคเจอร์ส ในเครือ AOL ไทม์ วอร์เนอร์ และในบางพื้นที่โดยวิลเลจ โรดโชว์ พิคเจอร์ส
เบื้องหลัง
"นาย….นายเก่ง นายมีพรสวรรค์นะเพื่อน"
บรรดานักวิจารณ์และผู้ชมทั่วโลกต่างให้การต้อนรับภาพยนตร์คอมเมดี้แห่งปี 1999 เรื่อง Analyze This อย่างท่วมท้น ในเรื่องราวของเจ้าพ่ออาชญากรจิตป่วน กับจิตแพทย์บ้านนอกช่างวิตก ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับบ็อกซ์ออฟฟิซทั่วโลก
"เรียกได้ว่าเราทุกคนต่างช็อคกันหมด" ผู้อำนวยการสร้าง พอล่า วีนสไตน์ กล่าว "เราไม่อยากเชื่อเลยว่าหนังได้ทำชื่อเสียงขนาดไหน ทุกคนที่ได้ดูหนังจะประทับตัวละครไว้ในใจ ฉันคิดว่าพวกเราทุกคน รวมทั้งแฮโรลด์ บิลลี่ และบ็อบ รู้สึกเหมือนมีเวทมนตร์เกิดขึ้น ทั้งในการสร้างสรรค์ และเมื่อหนังออกฉาย"
"อีกอย่างนับเป็นความสำเร็จอย่างเต็มรูปแบบของทั้งสองบริษัท ของพอล่าและของฉัน และนั่นเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นมาก" ผู้อำนวยการสร้าง เจน โรเซนธัล กล่าวถึง Baltimore Spring Creek Pictures ซึ่งวีนสไตน์เป็นหุ้นส่วนก่อตั้ง และ Tribeca ซึ่งเป็นบริษัทโปรดักชั่นภายใต้การนำของโรเซ็นธัลและหุ้นส่วน - โรเบิร์ต เดอ นีโร แม้กระนั้น ผู้อำนวยการสร้างทั้งคู่ต่างก็ไม่ได้เต็มใจที่จะสร้างภาคต่อในตอนแรก "เราไม่อยากทำหนังอีกเรื่อง เพียงเพราะว่าต้องทำ" วีนสไตน์ อธิบาย "โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันหมายถึงการทำสิ่งที่ซ้ำรอยตัวเอง"
แต่แนวเรื่องที่ไม่ธรรมดาของหนังเรื่องแรกที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคนทั่วไป ทำให้วีนสไตน์และโรเซนธัลรู้สึกว่าความสัมพันธ์ที่แปลกแยก และผูกพันกันอย่างประหลาด ระหว่าง พอล วิตตี และเบน โซเบล ยังคงต้องพลิกสู่บทใหม่ ดูราวกับว่าทุกคนรักตัวละครทั้งสอง -- รวมไปถึงนักแสดงผู้รับบทพวกเขาด้วย
"ผู้คนมักจะหยุดทักผมกลางถนนและพูดประโยคจากในหนังกับผม" บิลลี่ คริสทัลกล่าว และย้อนความจำกลับไปยังไดอาล็อคในเรื่อง Analyze This "'นาย….นายเก่ง นายมีพรสวรรค์' พวกเขาจะพูดเลียนแบบบ็อบ มันทำให้ผมจั๊กจี้"
"ฉันว่าคนดูชอบที่จะเห็นโรเบิร์ต เดอ นีโร รับบทของตัวละครบนจอที่น่ากลัว และในขณะเดียวกันก็สนุกกับมัน" โรเซนธัลให้ความเห็น "และก็ชอบที่จะเห็นว่าคนอื่นๆ โดยเฉพาะตัวละครของบิลลี่ มีปฎิกิริยาตอบ" หรือหากจะขอยืมความเห็นของคริสทัล "คนดูชอบเห็นเดอ นีโร ใส่ร้ายป้ายสีผม"
เมื่อมีความรู้สึกที่เชื่อถือได้ว่าคนดูตั้งตาคอยที่จะได้ดูเพิ่มอีก ทีมผู้อำนวยการสร้างจึงหารือถึงความคิดที่จะสร้างภาคต่อร่วมกับทางสตูดิโอ แล้วจึงคุยกับนักแสดงของเรื่อง Analyze This และผู้กำกับการแสดง, แฮโรลด์ เรมิส ทุกๆ คน รู้สึกกระตือรือร้นในการได้กลับมาร่วมทำงานกับเรื่องเดิมอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทีมครีเอทีฟชุดเดิมจะร่วมด้วย
"เราอยากกลับมาอีกครั้งเพราะมีเรื่องราวดีๆ จะเล่า" คริสทัลกล่าว "ยังคงมีความสัมพันธ์ ที่ยังไม่จบสิ้นระหว่างเบน โซเบบล และพอล วิตตี จากเรื่องแรก"
"เรื่องหลักระหว่างเราสองคน โดยเฉพาะสำหรับแฮโรลด์, บิลลี่ และบ็อบ ก็คือถ้าหากเราจะทำเรื่องใหม่ เราก็ต้องพาตัวละครไปยังที่ใหม่" โรเซนธัลเสริม "พวกเขาต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนไป และในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้คนดูสมหวัง" ซึ่งสิ่งนี้ เดอ นีโร ผู้รู้ดีจากการเคยทำงานมาแล้วในเรื่อง Analyze This จะต้องเกี่ยวข้องอย่างแน่นอนในการระดมสมองด้านครีเอทีฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในคำขอร้องจากเรื่องนี้
"ผมรู้สึกเต็มใจอย่างมากที่จะได้เริ่มงาน นับแต่ทุกคนรับปากที่จะทำงานในภาคต่อ" เดอ นีโรย้อนความ "มาทำงานกันเถอะ และเราจะเจาะลึกลงไปในเรื่องราว เพราะว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้กระทั่งระหว่างถ่ายทำ"ในเรื่อง Analyze This เราได้เรียนรู้ถึงความวิตกกังวลของวิตตี แต่ก็เพียงผิวเผิน ในเรื่องนี้เขาต้องพบกับความกดดันอย่างแท้จริง และความลับที่เขาฝังเอาไว้ (ในจิตใจเขา) เริ่มที่จะผุดขึ้นมา
การเล่าเรื่องให้สมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรมิส "ไม่มีอะไรที่แย่ไปกว่าการทำภาคต่อเพียงเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว"เขากล่าว "ผมจึงคอยจนกว่าเราจะมีความคิดและแนวเรื่องซึ่งมีเหตุผลพอกับเรื่องแรก"
กุญแจสำคัญของภาคต่อมาถึงเรมิสเมื่อเขาได้อ่านบทความในหนังสือพิมพ์ New York Times ที่เกี่ยวกับวิธีการรักษาทางจิตเวชซึ่งถ่ายทอดทางซีรี่ส์ฮิตของ HBO ในเรื่อง The Sopranos จิตแพทย์ที่ให้สัมภาษณ์กับ Times นั้นมีความสนใจที่จะวิเคราะห์อย่างชัดแจ้ง ถึงความหวังของผู้รักษาในอันที่จะบำบัดจิตคนไข้ให้สำเร็จ เจ้าพ่อมาเฟียโทนี่ โซปราโน่ เธอตั้งใจจะทำให้เขาเปลี่ยนเป็นคนละคนอย่างนั้นหรือ? แล้วถ้าเขาเปลี่ยนไปได้จริง ถ้าเขาไม่ใช่โทนี่ โซปราโน่อีกต่อไป แล้วเขาจะเป็นใคร? ; ความประพฤติของคนเราจะเปลี่ยนไปด้วยการละทิ้งบุคคลิก และปูมประวัติได้จริงหรือ?
"เป็นการตั้งคำถามกับธรรมชาติของมนุษย์และศีลธรรม" เรมิสกล่าวเกี่ยวกับบทความซึ่งเป็นแรงกระตุ้น "ไม่เพียงเฉพาะแต่ใน The Sopranos หรือหนังของเราเท่านั้น แต่กับสังคมโดยรวม คนที่มีบุคคลิกต่อต้านสังคมจะหายเป็นปกติได้จริงหรือ? เราเปลี่ยนแปลงฆาตกรได้ไหม? และที่สำคัญกว่านั้น ประเด็นก็คือคนเราเปลี่ยนได้หรือไม่? นั่นคือคำถามที่ผู้บำบัดทุกคนจะต้องถาม
"ผมจึงคิดว่า เอาละ ถ้าตัวละครพอล วิตตีออกมาจากคุก และให้คำมั่นว่าเขาจะกลับตัวกลับใจ" เรมิสกล่าวต่อ "เขาจะกลายเป็นคนประภทไหน และมีชีวิตอย่างไร? ผมปลื้มกับไอเดียนี้มาก"
สิ่งที่เขาต้องทำต่อไปก็คือการสร้างเหตุการณ์ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นไปได้ของวิตตี และคอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น
"แฮโรลด์ย้ำว่า ถ้าเราทุกคนเห็นด้วย เราอาจทำสิ่งที่สมเหตุสมผลในแง่ของจิตวิทยาที่น่าเชื่อถือ ในเหตุการณ์ที่วิตตีจะต้องประสบในเรื่องที่สอง และในขณะเดียวกันก็สร้างสถานการณ์ที่จะกระตุ้นวิกฤติที่คล้ายคลึงกันให้กับเบน โซเบล" วีนสไตน์กล่าว "เป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านประเด็นที่เคยได้เกิดขึ้นในเรื่องแรก"
ทีมผู้สร้างยังต้องการเพิ่มระดับความเป็นคอมเมดี้ ให้กับตัวละครของเดอ นีโรด้วย "ผมไม่อยากใช้อาการถูกจู่โจมด้วยความวิตกของวิตตีซ้ำในแง่ที่เป็นปัญหาใหญ่ของเขา ผมจึงยกระดับเขาขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งสำหรับเขาคือการเสียสติอย่างสมบูรณ์" เรมิสอธิบาย "ผมคิดถึงว่า มีความเป็นไปได้ทางทฤษฎีหรือไม่ พอลน่าจะเป็นบ้าจริง และนั่นจะเป็นบทเริ่มต้นที่เขาจะได้พ้นโทษ และกลายมาเป็นแขกของบ้านเบน - ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ช่วยให้เบนคลี่คลายปัญหาได้ ขณะเดียวกัน ภรรยาของเบนก็จะบอกว่า 'อะไรนะ?-- กฎหมายใหม่หรือไง? ต้องพาหัวหน้าแกงค์อันธพาลกลับมาบ้านด้วยหรือ?'"
และขณะนั้นเอง โซเบลก็พบว่าตัวเองตกอยู่ในวิกฤติแห่งชีวิต "ในตอนต้นเรื่องเราจะเห็นเขาในงานศพของพ่อ และถูกทำให้อ่อนแอลงด้วยวิกฤติเช่นเดียวกับวิตตี" เรมิสกล่าว, ในฉากที่โซเบลทำงานนั้นก็เทียบได้กับความพยายามที่จะยังคงมีชีวิตอยู่ในคุกของวิตตี "มากมายหลายสิ่งที่เราทำในชีวิต ก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ของเรา ถึงจุดนี้เขาก็ตั้งคำถามกับตนเองว่ายังต้องการเป็นจิตแพทย์อยู่หรือไม่ อันเป็นอาชีพที่เขาก้าวไปสู่เพื่อให้สมใจพ่อ ซึ่งถึงวันนี้อิทธิพลได้สูญสลายไปแล้ว""ชายทั้งสองคนสับสนมาก" คริสทัลกล่าว
ฟังดูเครียดหรือ? สำหรับเรมิสนั่นคือพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมสำหรับอารมณ์ขัน "หนังคอมเมดี้หลายเรื่องไม่ประสบความสำเร็จ" เขาเชื่อเช่นนั้น "เพราะทีมผู้สร้าง หรือผู้กำกับไม่จริงจังกับพื้นฐานของตนเองมากพอ สิ่งที่ผมมองเห็น ไม่ว่ามุขนั้นจะไร้สาระหรือชัดแจ้งขนาดไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวจะมีความหมายอะไร"
ในเรื่อง Analyze That, เรมิส นำเสนอ "แกนอันเป็นสากลของตัวละคร ไม่ว่าดราม่าหรือคอมเมดี้ ที่ต้องดิ้นรนกับปัญหา การนำเสนออาจเป็นแนวจิตวิทยา, ปรัชญา หรือแม้แต่แอ็คชั่นล้วนๆ แต่เขาก็ยังดิ้นรนกับปัญหาพื้นฐานของชีวิต"
เมื่อได้หัวใจของเรื่องมาแล้ว สิ่งที่เรมิสต้องเสาะหาต่อไปก็คือมุขเด็ดเพื่อเริ่มต้นทุกอย่าง ย้อนไปยังอารมณ์ขันที่เป็นแรงบันดาลใจของเรื่องแรก เขากล่าวว่า "ในเรื่อง Analyze This มุขที่ทำให้ผมได้ไอเดียก็คือฉากที่เบนบอกกับพอลว่า 'อยากอัดหมอนไหมล่ะ? เวลาผมโมโห ผมจะอัดหมอน' และวิตตีก็ควักปืนออกมาเดี๋ยวนั้นแล้วยิงหกกระสุนนัดเข้าที่หมอน เบนว่า 'ดีขึ้นไหม?' แล้ววิตตีก็ว่า 'ดี'"
เช่นเดียวกัน ใน Analyze That มุขใหม่ทำให้เรมิสมั่นใจว่าเขาเดินมาถูกทางแล้วคือ "หนึ่งในมุขแรกๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่ร่างสคริปท์ ก็คือการที่วิตตีพยายามขายรถในโชว์รูมให้กับใครสักคน 'ดูขนาดของกระโปรงท้ายซี' เขาว่า 'ใส่ได้ทีละสามศพเลยนะ…' บางทีมันต้องการแค่ประโยคเดียว สถานการณ์เดียว ที่จะจุดประกายให้กับผม และนั่นคือสิ่งที่ผมอยากบอก"
เดอ นีโร คิดว่าฉากโชว์รูมเป็นหนึ่งในฉากโปรดของเขา
คริสทัลสรุปถึงความตั้งใจของพวกเขาในการทำภาคต่อว่า "เราพยายามทำให้ถูกต้อง ความจริงก็คือ ความผิดปกติทางจิต ไม่ว่าในแบบใด ไม่ใช่เรื่องควรนำมาล้อเลียน…. แน่นอน เว้นเสียแต่ว่า มันตลกมาก"
(ยังมีต่อ)