เปิดฉาก 'สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ครั้งที่ ๑๐ หาฉันทมติ ๔ ระเบียบวาระ

21 Dec 2017
เปิดฉาก 'สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ' ครั้งที่ ๑๐ หาฉันทมติ ๔ ระเบียบวาระ 'เพิ่มกิจกรรมทางกาย-การจัดการขยะ-พัฒนาพื้นที่เล่น-การแก้ปัญหายาเสพติด'
เปิดฉาก 'สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ครั้งที่ ๑๐ หาฉันทมติ ๔ ระเบียบวาระ

สช. เปิดฉากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ ด้วยพระคติธรรมประทานจากสมเด็จพระสังฆราชฯ และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนใหม่ ปาฐกถานำ ขณะที่ประธาน คจ.สช.ประกาศ ผนึกกำลังภาคีทุกภาคส่วนจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ๔ ระเบียบวาระ 'เพิ่มกิจกรรมทางกาย-จัดการขยะมูลฝอย-พัฒนาพื้นที่เล่น-ชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด' ด้านเลขาธิการ คสช. เดินหน้าทศวรรษ ๒ ยกระดับสมัชชาสุขภาพ เป็นเครื่องมือของสังคม

เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๐ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม 2560 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้แนวคิด "๑๐ ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ" โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากเครือข่ายพื้นที่/ภาคประชาสังคม ชุมชนและเอกชน/ภาควิชาการ วิชาชีพ /ภาคราชการ การเมือง กลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฉพาะประเด็น และผู้สนใจกว่า ๓,๐๐๐ คน

ในการประชุมวันแรก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ประทานพระคติธรรมแก่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ จากนั้น พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนใหม่ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ต่อด้วยปาฐกถาของ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และในปีนี้ มีกิจกรรมสำคัญในวันแรกคือ พิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยพระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และการลงนามขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักพุทธศาสนา กระทรวงสาธารณสุข สสส. สปสช.และ สช. เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่คณะสงฆ์และฆราวาสร่วมกันจัดทำกรอบและแนวทางในการเสริมสร้างสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ โดยยึดหลักการใช้ทางธรรมนำทางโลก กำหนดแนวทางการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์กันเอง การดูแลสุขภาพพระสงฆ์โดยญาติโยม และบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสุขภาวะชุมชน

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นรูปธรรมของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพตามแนวทางประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการสร้างพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้เข้ามาร่วมกันปรึกษาหารือ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและนักวิชาการ/วิชาชีพ ตั้งแต่กระบวนการกำหนดประเด็น การก่อรูป พัฒนา จัดทำนโยบาย และการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงร่วมรับผลแห่งความสำเร็จร่วมกัน ตามเป้าหมายในการสร้างนโยบายสุขภาพในมิติใหม่ที่ทุกฝ่าย ทุกนโยบายต้องให้ความสำคัญกับมิติสุขภาพด้วย

สำหรับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ มีความสำคัญในโอกาสที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพมาเป็นเวลาถึง ๑๐ ปีแล้ว โดยในปีนี้ มีประเด็นที่ได้รับการเสนอเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น ๔ ระเบียบวาระ ได้แก่ ๑.การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ๒.การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ๓.การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา ๔.ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

"ทั้ง ๔ ระเบียบวาระนี้เป็นประเด็นใกล้ตัว ทุกเรื่องล้วนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมโดยรวมของคนไทย อย่างเรื่องกิจกรรมทางกายซึ่งถ้าเราทุกคนใส่ใจก็สามารถลดโรคไม่ติดต่อได้หลายชนิด พื้นที่เล่นของเด็กที่แทบทุกสถานที่เป็นพื้นที่เล่นได้ แต่ต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย สร้างความรักความอบอุ่นให้เด็กด้วย เรื่องการจัดการขยะซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ถ้าผู้ผลิตขยะคือพวกเราทุกคนไม่ช่วย เราจัดการปัญหาขยะไม่ได้แน่ เช่นเดียวกับเรื่องยาเสพติดที่การจับกุมอาจไม่ใช่คำตอบ แต่ชุมชนต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กันและกันด้วย ทุกเรื่องที่กล่าวมาจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันอย่างเร่งด่วน ไม่ปล่อยเป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่ต้องเน้นความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการบูรณาการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ กล่าวว่า ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา เครื่องมือทั้ง ๔ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ อันประกอบด้วย ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และสิทธิด้านสุขภาพ ได้นำไปสู่ความมั่นคงในหลักคิด แนวทาง ความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ มีผู้แทนจากหลายประเทศที่เข้าร่วมและต้องการเรียนรู้รูปแบบกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของประเทศไทย แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็นำเอาเรื่องของสมัชชาสุขภาพไปถอดบทเรียนเพื่อเผยแพร่ต่อประเทศอื่นๆ ด้วย แต่การดำเนินงานก็คงไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เพราะในทศวรรษที่ ๒ ยังมีความท้าทายและมีสิ่งที่ต้องขยายผลให้งอกงามขึ้นอีก โดยเฉพาะ สมัชชาสุขภาพ ที่ต้องยกระดับขึ้นไปสู่จุดที่กลายเป็นเครื่องมือของชาติ

"ในประเด็นที่เย็น เราจะได้เห็นความเป็นนักสานพลังระหว่างภาคีต่างๆ ส่วนในประเด็นที่ร้อน เราจะได้เห็นบทบาทการเป็นกลไกไกล่เกลี่ยต่อรองเพื่อหาทางออกร่วมกัน ฉะนั้นทศวรรษที่สองนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะต้องยกสถานะตัวเองให้เป็นเครื่องมือของชาติ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ต่อไป" นพ.พลเดช กล่าว

ทั้งนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑-๙ ได้เกิดข้อเสนอนโยบายที่ได้รับฉันทมติทั้งสิ้น ๗๓ มติ ในจำนวนนี้มีกว่า ๒๐ มติที่ขับเคลื่อนจนบรรลุผลตามเจตนารมณ์ได้สำเร็จ ขณะที่อีกบางส่วนยังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อน และมีเพียงแค่ ๕-๖ มติเท่านั้นที่ถูกยกเลิกไปเนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคและไม่เท่าทันต่อสถานการณ์

อนึ่ง งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย โดยเฉพาะการเสวนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ อาทิ สุขภาวะชาวสวนยาง, การส่งเสริมกีฬามวยเด็ก...ยุติมวยเด็กหาเงิน, การผลักดัน พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์, การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย, เสวนา "ทุกข์เศร้าใต้เงาเพศภาวะ: รากเหง้าของภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงและการบำบัดที่ยั่งยืน" เป็นต้น

HTML::image( HTML::image(