ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธีประกาศ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐" พร้อมด้วยคณะสงฆ์ร่วมในพิธี ต่อเนื่องด้วยพิธีการลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติของผู้บริหารหน่วยงานหลัก ได้แก่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นางวชิรา น่วมเจริญ ผู้ตรวจราชการ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่ง โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี
พระพรหมวชิรญาณ กล่าวในพิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติว่า การจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ เป็นการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่อง "พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ" เนื่องจากพระสงฆ์เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจให้กับประชาชนและสังคม ดังนั้นสุขภาวะของพระสงฆ์จึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติศาสนกิจ การประกาศใช้ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐" จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์และชุมชนทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อน ๓ ประการ ได้แก่ ๑. พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ๒.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และ๓.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยยึดหลัก "ใช้ทางธรรมนำทางโลก"
"ขณะนี้สุขภาพของพระสงฆ์กำลังมีปัญหาทั้งจากอาหาร ซึ่งญาติโยมได้นำมาถวาย การออกกำลังกาย และสภาพแวดล้อมภายในวัดวาอารามต่างๆ ที่ทุกฝ่ายควรช่วยกันให้ความรู้เพื่อสร้างให้เกิดสุขภาวะที่ดี นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์และชุมชนที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ระหว่างวัด ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งให้เกิด พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุขให้ได้ภายใน ๑๐ ปี นับจากนี้"
ในช่วงบ่ายวันเดียวกันคณะสงฆ์จากทั่วประเทศ กว่า ๕๐ รูป ได้ประชุมร่วมกันในห้องเสวนานโยบายสาธารณะ เพื่อกำหนด "ก้าวย่างที่ ๒ สู่การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ" โดยได้มีการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๕ ว่าด้วยการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ ทั้งให้มีกลไกระดับชาติและการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ผ่านเจ้าคณะปกครองสงฆ์
พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวว่า หลังจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทมติเรื่อง "พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ" ซึ่งนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาโดยภาคีเครือข่าย คฤหัสถ์ ญาติโยม ในการขับเคลื่อนมติฯ แล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นร่วมกันให้มีกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยได้รับความเห็นชอบเบื้องต้นจากที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 จากนั้นได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุต รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สสส., สปสช., สช., สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึง 5 เวที มีคณะสงฆ์เข้าร่วมกว่า 300 รูป จนเมื่อเสร็จสิ้นจึงได้เสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติรับทราบผลการพิจารณาเห็นชอบธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2560 และประกาศใช้ธรรมนูญฯ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2560
พระครูพิพิธสุตาทร รองประธานคณะทำงานจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า หลายหน่วยงานได้ให้ความสนใจกับการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ เช่น สปสช. กำลังมีแนวคิดปรับปรุงนโยบายการรักษาพยาบาลของพระสงฆ์ในปี ๒๕๖๒ โดยให้พระสงฆ์ที่อาพาธสามารถไปรักษา ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่ต้องมีอุปสรรคเรื่องการส่งตัวหรือข้อจำกัดเรื่องพื้นที่บริการอีกต่อไป เนื่องจากพระสงฆ์บางรูปจำพรรษาหรือไปธุดงควัตรในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถกลับมารักษาตามสิทธิได้ นับว่าเป็นแนวปฏิบัติชัดเจนที่จะเกิดขึ้น หลังการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวเสริมว่า การออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มองเรื่องของพระสงฆ์เป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ แล้ว จะนำไปสู่การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดย สปสช. จะเชิญฝ่ายพระสงฆ์เข้าร่วมการออกแบบระบบบริการสุขภาพต่อไป
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.จะร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ สสส. สปสช. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดสุขภาวะที่ดี ตามวัตถุประสงค์และเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับใหม่โดยมุ่งใช้ทางธรรมนำทางโลก
"เมื่อมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ในระดับประเทศแล้ว จะต้องขับเคลื่อนทั่วประเทศ โดยอาจมีการจัดทำ ธรรมนูญสุขภาพระดับชุมชน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามวิถีชีวิตและบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง"
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit